ธปท.เผยภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ย.ปีนี้ ยังทรงตัว คาดช่วงที่เหลือของปีนี้คงปรับดีขึ้นได้อีกไม่มาก แต่โดยรวมยังมีเสถียรภาพ พร้อมจับตาผลกระทบจากการเมืองอย่างใกล้ชิด
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ภาพรวมทรงตัวจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนติดลบที่ 1.3% และ 0% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า คาดว่าในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้น่าจะปรับดีขึ้นบ้าง แต่คงไม่ดีขึ้นจนผิดหูผิดตา เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นท้องช้าง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดปรับตัวดีขึ้น และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง พิจารณาภาพรวมเป็นรายไตรมาส
ทั้งนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวอยู่ที่ 1.42% ลดลงจากเดือนก่อนที่ 1.59% การว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8% ของแรงงานทั้งหมดจากเดือนก่อนที่ 1% ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 534 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับเดือนก่อนที่เกินดุล 1,285 ล้านเหรียยสหรัฐ จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ส่วนดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย และดุลการชำระเงินยังเกินดุล
“เศรษฐกิจในช่วงนี้ยังทรงตัวเพราะยังไม่พ้นภาวะท้องช้าง ไตรมาสสุดท้าย หรือช่วงที่เหลือของปีอาจจะปรับดีขึ้นบ้าง แต่คงดีขึ้นได้ไม่มากจนผิดหูผิดตา เพราะยังไม่พ้นท้องช้าง และยังต้องติดตามความผันผวนจากภาวะตลาดการเงินโลก รวมถึงสถานการณ์การชุมนุมในประเทศในช่วงนี้ด้วย เพราะหากยืดเยื้อ มีคนมาก ถนนติดหลายสายก็อาจจะมีผลต่อความเชื่อมั่น และบรรยากาศทางเศรษฐกิจได้” นายเมธีกล่าว
นายเมธี กล่าวว่า ส่วนภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปีนี้มีสัญญาณปรับดีขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตามการส่งออกสินค้าในหลายหมวดที่ทยอยปรับดีขึ้นตามอุปสงค์ต่างประเทศ และการท่องเที่ยวที่เติบโตดีต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัว ส่งผลให้การฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจนนัก ด้านภาครัฐมีการเร่งใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 3 พบว่า อัตราเงินเฟ้อชะลอลง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลงจากไตรมาสก่อน โดยการขาดดุลส่วนใหญ่เป็นผลจากการส่งกลับกำไร และเงินปันผลไปต่างประเทศ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงินเป็นสำคัญ โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุลน้อยลงที่ 1,950 ล้านเหรียญสหรัฐ จากไตรมาสก่อนที่ขาดดุล 2,441 ล้านเหรียญสหรัฐ