xs
xsm
sm
md
lg

คลังแจง 6 เดือน สินเชื่อแบงก์รัฐขยายตัวในอัตราชะลอลง เกษตร-อุตฯ-สาธารณูปโภค เริ่มแผ่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังแจง 6 เดือน สินเชื่อแบงก์รัฐขยายตัวในอัตราชะลอลง ชี้สินเชื่อภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม สาธารณูปโภคเริ่มแผ่ว

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงผลดำเนินงานสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ช่วง 6 เดือนแรก โดยระบุว่า ภาพสินเชื่อรวมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งพบว่าการปล่อยสินเชื่อธุรกิจมีการหดตัว ได้แก่ สินเชื่อภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม สาธารณูปโภค โดยมียอดสินเชื่อคงค้างรวมกันมากกว่า 3.94 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ พบว่าธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) มียอดการปล่อยสินเชื่อหดตัวลงกว่า 3 พันล้านบาท จาก 1.15 แสนล้านบาทในไตรมาสแรก เหลือ 1.12 แสนล้านบาทในไตรมาสที่ 2 รวมถึงธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) สินเชื่อหดตัวกว่า 3 พันล้านบาท จาก 9.62 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรก ลดเหลือ 9.28 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ 2

ด้านธนาคารออมสิน มียอดปล่อยสินเชื่อคงค้างไตรมาสแรกที่ 1.51 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 1.52 ล้านล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มียอดปล่อยสินเชื่อจาก 1.07 ล้านบาท ในไตรมาสแรก เป็น 1.2 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยสินเชื่อคงค้างจาก 7.13 แสนล้านบาทในไตรมาสแรก เป็น 7.21 แสนล้านบาทในไตรมาสที่ 2 และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) จาก 6.59 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรก เป็น 6.77 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ 2

นอกจากนี้ สศค.ยังระบุถึงภาพรวมคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าสินเชื่อธุรกิจมีหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมถือว่าเป็นอัตราที่ลดลง โดยอยู่ที่ระดับ 4.3% ของยอดสินเชื่อรวม ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.34 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.98 พันล้านบาท ส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ 2.8% และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) อยู่ที่ 0.8% ส่วนอัตราความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 10.3%
กำลังโหลดความคิดเห็น