xs
xsm
sm
md
lg

อานิสงส์ AEC-ระบบคมนาคมขนส่งหนุนอสังหาฯอีสานบูม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัมมา คีตสิน
อานิสงส์AEC -ระบบคมนาคมขนส่ง หนุนอสังหาฯอีสานบูม นักลงทุนทุนไทย-เทศแห่ลงทุนดันราคาที่หลายจังหวัดปรับขึ้นเท่าตัว ศูนย์ข้อมูลเผยนักลงทุนชาวจีน เวียดนามลงทุนผุดโครงการ Mixed Uses ขนาดใหญ่ ทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า คอนโดฯ เลียบแม่น้ำโขงฝั่งลาง 3-4 โครงการ ชี้หากโครงการสร้างเสร็จคนไทยหันเที่ยวลาวแทน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ดำเนินการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 โดยวิธีการจ้างสำรวจ ต่อมาในปี 2555 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ดำเนินการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยโดยวิธีการจ้างสำรวจเพิ่มเติมในจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างปี 2555 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูล พบผู้แทนหอการค้าจังหวัด และผู้ประกอบการในจังหวัดอุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร และอุบลราชธานี ต่อมาในปี 2556 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูล พบผู้แทนหอการค้าจังหวัด และผู้ประกอบการในจังหวัด นครพนม บึงกาฬ สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ และอุดรธานี

จากผลสำรวจศูนย์ข้อมูลฯได้มีการจัดแบ่งเป็นจังหวัดที่มีโครงการที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก หนาแน่นปานกลาง และหนาแน่นน้อย ได้ดังนี้ จังหวัดที่มีโครงการที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี
จังหวัดที่มีโครงการที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ได้แก่ อุบลราชธานี มหาสารคาม
จังหวัดที่มีโครงการที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ นครพนม บึงกาฬ สกลนคร กาฬสินธุ์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร เลย ชัยภูมิ หนองบัวลำภู หนองคาย มุกดาหาร

จังหวัดที่มีโครงการที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
จังหวัดนครราชสีมา
จังหวัดนครราชสีมาถือเป็นจังหวัดหน้าด้านหรือประตูสู่ภาคอีสาน อยู่ใกล้กรุงเทพฯที่สุด มีเขตติดต่อกับจังหวัดขอนแก่นซึ่งมีขนาดใหญ่และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ นครราชสีมามีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานทั้งในเชิงพื้นที่ประมาณ 20,500 ตารางกิโลเมตร มีจํานวนที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้าน 846,000 หลัง และ มีความหนาแน่นของประชากรต่อครัวเรือนต่ำสุดเพียงประมาณ 3.1 คนต่อครัวเรือน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ดำเนินการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยในจังหวัดนครราชสีมา ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2555 โดยสำรวจเฉพาะในอำเภอเมืองและอำเภอปากช่อง ซึ่งมีโครงการที่อยู่อาศัยหนาแน่น พบว่ามีหน่วยที่อยู่อาศัยในผังของโครงการซึ่งอยู่ในระหว่างการขาย ประเภทบ้านจัดสรรประมาณ 6,900 หน่วย และห้องชุดประมาณ 730 หน่วย

หน่วยของโครงการบ้านจัดสรรซึ่งอยู่ระหว่างการขายมีประมาณ 6,900 หน่วย จากโครงการจัดสรร 55 โครงการซึ่งมีการขายต่อเนื่อง มีมูลค่าโครงการการรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 22,900 ล้านบาท ขายได้แล้วสะสมประมาณร้อยละ 60 ของหน่วยในผังทั้งหมด หน่วยบ้านจัดสรรประมาณร้อยละ 6 อยู่ในระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ร้อยละ 21 อยู่ในระดับราคา 1.1-2 ล้านบาท ร้อยละ 31 อยู่ในระดับราคา 2.1-3 ล้านบาท และร้อยละ 33 อยู่ในระดับราคา 3.1-5 ล้านบาท

จากหน่วยในผังโครงการจัดสรรทั้งหมด อยู่ในอำเภอเมืองประมาณ 5,900 หน่วย และอำเภอปากช่องประมาณ 1,100 หน่วย หากแบ่งตามประเภทจะเป็นบ้านเดี่ยวประมาณ 5,500 หน่วย เป็นทาวน์เฮาส์ประมาณ 400 หน่วย ที่เหลือเป็นบ้านแฝดและอาคารพาณิชย์หน่วยห้องชุดซึ่งอยู่ระหว่างการขายทั้งหมดประมาณ 730 หน่วย จากประมาณ 7 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 2,900 ล้านบาท ขายได้แล้วสะสมประมาณร้อยละ 76 ของหน่วยในผังทั้งหมด

จากหน่วยในผังโครงการอาคารชุดทั้งหมด อยู่ในอำเภอเมืองประมาณ 240 หน่วย ในอำเภอปากช่องประมาณ 490 หน่วย เป็นห้องแบบสตูดิโอประมาณ 120 หน่วย แบบหนึ่งห้องนอนประมาณ 140 หน่วย แบบสองห้องนอนประมาณ 450 หน่วย และแบบสามห้องนอนประมาณ 30 หน่วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2555 ถึงปัจจุบัน มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่อีกอย่างน้อย 11 โครงการ ด้วยจำนวนหน่วยรวมประมาณ 2,250 หน่วย โดยอยู่ในอำเภอปากช่อง 8 โครงการ รวมประมาณ 1,290 หน่วย และอำเภอเมือง 3 โครงการ รวมประมาณ 960 หน่วย ทั้งนี้ มีการเร่งเปิดโครงการอาคารชุด

แม้จังหวัดนครราชสีมาจะมีจำนวนอำเภอมาถึง 32 อำเภอ แต่อำเภอที่มีความสำคัญในเชิงการพัฒนาตลาด ที่อยู่อาศัยมีเพียงอำเภอเมือง และอำเภอปากช่อง โดยตลาดที่อยู่อาศัยมีการแบ่งแยกค่อนข้างชัดเจนในด้านผู้ซื้อและราคา กล่าวคือ โครงการที่อยู่อาศัยในเขตอำเภอเมืองจะเป็นตลาดของคนท้องถิ่นมากกว่าและมีระดับราคาถูกกว่า ส่วนโครงการที่อยู่อาศัยในบริเวณอำเภอปากช่องซึ่งครอบคลุมพื้นที่เขาใหญ่เป็นตลาดของคนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งมีฐานะและซื้อไว้เป็นบ้านหลังที่สองหรือบ้านพักตากอากาศ

จังหวัดขอนแก่น
จังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สําคัญของภาคอีสานมาช้านาน โดยมีจํานวนประชากรประมาณ 1,770,000 คน มากเป็นอันดับ 3 รองจากจังหวัดนครราชสีมาและอุบลราชธานี มีขนาดพื้นที่ประมาณ 10,900 ตารางกิโลเมตร มีจํานวนที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านรวมประมาณ 550,000 หลัง และมีประชากรอาศัยอยู่ในเขตอําเภอเมืองมากกว่า 200,000 คน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ดำเนินการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยในจังหวัดขอนแก่น ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2555 โดยสำรวจเฉพาะในอำเภอเมืองซึ่งเป็นอำเภอเดียวที่มีโครงการที่อยู่อาศัยหนาแน่น พบว่ามีหน่วยที่อยู่อาศัยในผังของโครงการซึ่งอยู่ในระหว่างการขาย (นับเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย) ประเภทบ้านจัดสรรประมาณ 2,700 หน่วย และห้องชุดประมาณเกือบ 2,000 หน่วย

หน่วยของโครงการบ้านจัดสรรซึ่งอยู่ระหว่างการขายประมาณ 2,700 หน่วยนั้น มาจากโครงการจัดสรร 19 โครงการ มีมูลค่าโครงการการรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 9,700 ล้านบาท ขายได้แล้วสะสมประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของหน่วยในผังทั้งหมด หน่วยบ้านจัดสรรประมาณร้อยละ 27 อยู่ในระดับราคา 2.1-3 ล้านบาท และร้อยละ 59 อยู่ในระดับราคา 3.1-5 ล้านบาท และไม่มีหน่วยบ้านจัดสรรราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท จากหน่วยในผังโครงการจัดสรรทั้งหมด ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 เป็นบ้านเดี่ยว ที่เหลือเป็นทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด และอาคารพาณิชย์

หน่วยห้องชุดซึ่งอยู่ระหว่างการขายทั้งหมดประมาณ 1,940 หน่วย มาจาก 9 โครงการ มีมูลค่าโครงการรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 2,800 ล้านบาท ขายได้แล้วสะสมประมาณร้อยละ 50 ของหน่วยในผังทั้งหมด หน่วยห้องชุดร้อยละ 34 อยู่ในระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท และร้อยละ 5 อยู่ในระดับราคา 1.1-2 ล้านบาท สำหรับสถานะของการก่อสร้าง พบว่าเป็นหน่วยที่ยังไม่ก่อสร้างประมาณ 890 หน่วย อยู่ระหว่างก่อสร้างประมาณ 1,050 หน่วย และไม่มีหน่วยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเลยในขณะสำรวจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2556 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ตรวจสอบพบว่าในระหว่างเดือนตุลาคม 2555-มีนาคม 2556 มีโครงการอาคารชุดเปิดขายใหม่อีกประมาณ 11 โครงการ รวมหน่วยห้องชุดประมาณ 2,700 หน่วย และต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2556 มีรายงานว่ามีหน่วยห้องชุดในระหว่างการขายมากถึงประมาณ 7,000 หน่วย ในขณะที่มีหน่วยบ้านจัดสรรในระหว่างการขายประมาณ 6,000 หน่วย ซึ่งถือว่ามีจํานวนเพิ่มขึ้นมากกว่าการสํารวจในปี 2555 ทั้งนี้ การเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในจังหวัดขอนแก่นโดยเฉพาะโครงการอาคารชุด มีอัตราเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2555 ถึงปัจจุบัน มีโครงการอาคารชุดขนาดใหญ่ของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยรายใหญ่จากกรุงเทพฯ มาเปิด ตลาดด้วยจํานวนหน่วยมากกว่าผู้ประกอบการท้องถิ่น ราคาที่ดินในจังหวัดขอนแก่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ถนนศรีจันทร์ในอําเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นบริเวณซึ่งมีราคาซื้อขายที่ดินแพงที่สุดในภาคอีสาน โดยมีราคาตารางวาละเกือบ 200,000 บาท

จังหวัดอุดรธานี
จังหวัดอุดรธานีมีขนาดพื้นที่ประมาณ 11,700 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในภาคอีสาน รองจากนครราชสีมา อุบลราชธานี และชัยภูมิ มีจํานวนประชากรประมาณ 1,557,000 คน มากเป็นอันดับ 4 รองจากจังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี และขอนแก่น ประกอบด้วย 20 อําเภอ มีจํานวนที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 453,000 หลัง

จังหวัดอุดรธานีมีจุดเด่นในด้านธุรกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว แม้จะไม่ใช่จังหวัดที่มีชายแดนติดกับ สปป.ลาว แต่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดสะพานมิตรภาพไทย -ลาวแห่งแรกในจังหวัดหนองคายตั้งแต่ปี 2537 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวลาวเข้ามาพักอาศัยและจับจ่ายใช้สอยสินค้าในอุดรธานีจํานวนมากอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีสนามบินซึ่งรองรับเที่ยงบินได้มากกว่าจังหวัดข้างเคียงและมีเที่ยวบินไปสูจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ทําให้การเดินทางและประกอบธุรกิจเชื่อมต่อกับภาคเหนือของประเทศสะดวกสบายขึ้น

ในช่วงประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของอุดรธานีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงจากผู้ประกอบการระดับประเทศ และ มี Community Mall ขนาดใหญ่ชื่อ UD Town ครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้างในใจกลางเมือง
ถนนมิตรภาพ ชวงถนนเลี่ยงเมืองอุดรธานี-หนองคาย เป็นย่านธุรกิจแห่งใหม่ที่เกิดจากการขยายตัวของเมืองไปยังชานเมือง เป็นเส้นทางสําคัญที่เชื่อมต่อไปยังจังหวัดหนองคาย และ สปป.ลาว ทําให้มีบ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะร้านค้าส่งค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ เช่นเดียวกับถนนเลี่ยงเมืองช่วงอุดรธานี-หนองบัวลําภู (ซึ่งเป็นเส้นทางไปสนามบินนานาชาติอุดรธานี จังหวัดหนองบัวลําภู และจังหวัดเลย) ก็มีหมู่บ้านจัดสรรและห้างค้าปลีกค้าส่งจํานวนมากตั้งอยู่เช่นกัน

ปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนลาวและเวียดนามมาร่วมลงทุนทําธุรกิจต่างๆจํานวนมากกับคนท้องถิ่น ขณะที่การค้าชายแดนลาวในจังหวัดหนองคายมีมูลค่าเฉลี่ยสูงขึ้นทุกปี จากปีละ 30,000-40,000 ล้านบาทในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้าเป็นมากกว่า 60,000 ล้านบาทในปี 2555

ที่ดินในอุดรธานีอยู่ในมือเจ้าของที่ดินรายใหญ่ไม่กี่ราย จึงมีการตั้งราคาขายไว้สูงจนไม่สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบในเมืองได้ แม้แต่การพัฒนาโครงการอาคารชุดในเมืองก็เป็นอาคารชุดราคาปานกลาง ถึงราคาสู ง มีการซื้อขายเก็งกําไรที่ดินกันมากในช่วงปี 2554-2555ราคามีการปรับเพิ่มขึ้น มากกว่าเท่าตัว ปัจจุบันที่ดินใจกลางเมืองมีราคาซื้อขายตารางวาละ 1 00,000-150,000 บาท จากราคาประมาณตารางวาละ 60,000 บาทเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว
 

จากข้อมูลของกรมที่ดินพบว่าที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินใหม่ ตั้งแต่ปี 2549 ถึงสิ้นสุดเดือนเมษายน 2556 มีจำนวน 22 โครงการ รวม 1,547 หน่วย เป็นบ้านเดี่ยวร้อยละ 69 เป็นบ้านแฝดร้อยละ 23 โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 ยังไม่มีโครงการที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินใหม่ แต่มีรายงานเมื่อเดือนเมษายน 2556 ว่ามีอุปทานบ้านจัดสรรในอำเภอเมืองอุดรธานีมากกว่า 4,000 หน่วย อนึ่ง ราคาบ้านเดี่ยวชั้นเดียวในอุดรธานีอยู่ที่ประมาณ 1.5 - 3 ล้านบาท ส่วนบ้านเดี่ยว 2 ชั้นและบ้านแฝด 2 ชั้น มีราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

สำหรับอาคารชุดนั้น จากข้อมูลการจดทะเบียนอาคารชุดของกรมที่ดินพบว่า มี 3 โครงการเก่าที่สร้างเสร็จจดทะเบียนในอำเภอเมืองมานานกว่า 15 ปี ได้แก่ โครงการสาธิตคอนโดมิเนียม จำนวน 83 หน่วย สร้างเสร็จในปี 2537 โครงการแกรนด์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม จำนวน 125 หน่วย สร้างเสร็จในปี 2539 และโครงการอุดรคอนโดเทล จำนวน 168 หน่วย สร้างเสร็จในปี 2541 และหลังจากนั้นจนถึงเดือนเมษายน ปี 2556 ยังไม่มีโครงการอาคารชุดสร้างเสร็จจดทะเบียนในอุดรธานีเลย

เนื่องจากราคาที่ดินในเขตอำเภอเมืองได้ปรับเพิ่มสูงมากจนไม่สามารถสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบได้ ในปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการรายใหญ่จากส่วนกลาง ได้แก่ แอลพีเอ็น แสนสิริ เอพี ซีพีแลนด์ ได้เปิดโครงการอาคารชุดในเขตอำเภอเมืองรวมกันมากกว่า 3,000 หน่วย ซึ่งโครงการของผู้ประกอบการเหล่านี้มียอดจองค่อนข้างสูง

อุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงกว่าอุบลราชธานี ในการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย แม้อุบลราชธานีมีจำนวนประชากรมากกว่า เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อสูงและมีกลุ่มกำลังซื้อที่หลากหลาย นอกจากคนท้องถิ่นในจังหวัดอุดรธานีแล้ว ยังมีความต้องการของคนในจังหวัดข้างเคียง เช่น หนองคาย หนองบัวลำภู ฯลฯ ที่ต้องการย้ายแหล่งงานและที่อยู่อาศัยมายังอุดรธานี นอกจากนั้น ก็ยังมีกำลังซื้ออีกส่วนจากชาวต่างชาติที่แต่งงานกับคนไทย

จังหวัดที่มีโครงการที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง
จังหวัดอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานี มีขนาดพื้นที่ประมาณ 16,100 ตารางกิโลเมตร มากเป็นอันดับที่สองในภาคอีสาน รองจากจังหวัดนครราชสีมา และมีจํานวนประชากรประมาณ 1,830,000 คน มากเป็นอันดับที่สองรองจากจังหวัดนครราชสีมาเช่นเดียวกัน ประกอบด้วย 25 อําเภอ มีจํานวนที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านรวมประมาณ 523,000 หลัง แม้ตลาดที่อยู่อาศัยยังไม่พัฒนาไปถึงระดับเดียวกับจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานีแต่ด้วยฐานประชากรจํานวนมากทําให้ยังมีโอกาสในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในอนาคต และด้วยขนาดพื้นที่มากทําให้ราคาที่ดินโดยทั่วไปยังไม่แพงมากเท่าอุดรธานีหรือขอนแก่น

อุบลราชธานีเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษา 11 แห่ง และระดับอุดมศึกษาอีก 14 แห่ง ทำให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งเพื่อซื้อและให้เช่าจากประชาชนในจังหวัดใกล้เคียง เช่น อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธรที่ส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษา พื้นที่ซึ่งมีโครงการบ้านจัดสรรในปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเมืองและอำเภอวารินชำราบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จากข้อมูลของกรมที่ดินพบว่าที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินใหม่ ตั้งแต่ปี 2549 ถึงสิ้นเดือนเมษายนปี 2556 มีจำนวน 41 โครงการ รวมประมาณ 2,975 หน่วย ส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยวและที่ดินเปล่า โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 มีโครงการที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรใหม่ 6 โครงการ จำนวน 300 หน่วย

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ดำเนินการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยในจังหวัดอุบลราชธานี ณ สิ้นสุดไตรมาสสุดท้ายปี 2555 โดยสำรวจเฉพาะในอำเภอเมือง ซึ่งมีโครงการที่อยู่อาศัยหนาแน่น พบว่ามีหน่วยบ้านจัดสรรประมาณ 740 หน่วย โดยยังไม่มีหน่วยห้องชุด นอกเหนือไปจากโครงการเก่าซึ่งสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2548 ชื่อศุภชัยทาวเวอร์ ซึ่งมีจำนวน 52 หน่วย
 
หน่วยของโครงการบ้านจัดสรรซึ่งอยู่ระหว่างการขายนั้นมาจากโครงการจัดสรร 13 โครงการ มีมูลค่าโครงการการรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 1,600 ล้านบาท ขายได้แล้วสะสมประมาณร้อยละ 56 ของหน่วยในผังทั้งหมด หน่วยบ้านจัดสรรประมาณร้อยละ 54 อยู่ในระดับราคา 1.1-2 ล้านบาท และร้อยละ 30 อยู่ในระดับราคา 2.1-3 ล้านบาท โดยเป็นบ้านเดี่ยวประมาณ 680 หน่วย

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่สำรวจโครงการที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมในช่วงปลายปี 2555 พบว่ามีโครงการบ้านจัดสรรที่อยู่ระหว่างการขายเพิ่มเป็นประมาณเกือบ 20 โครงการ ทั้งหมดเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ และต่อมาเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2556 มีโครงการอาคารชุดเปิดขายใหม่แล้ว 1 โครงการ จำนวนหน่วยรวมเพียงไม่ถึง 80 หน่วย ชื่อโครงการ Grand Condo ตรงข้ามห้างบิ๊กซี ย่านถนนชยางกูร

กำลังซื้อบ้านจัดสรรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 80 เป็นคนท้องถิ่นในจังหวัด โดยมีกลุ่มข้าราชการและครูอาจารย์ที่ทำงานอยู่ในอุบลราชธานีเป็นผู้ซื้อหลัก ที่เหลือเป็นกำลังซื้อจากจังหวัดใกล้เคียงที่ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในสถาบันการศึกษาของอุบลราชธานี ส่วนชาวต่างชาติมีประมาณร้อยละ 5 ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นครู และเช่าพักอาศัยมากกว่าซื้อ ชาวต่างชาติที่แต่งงานกับหญิงไทยและซื้อที่อยู่อาศัยยังมีไม่มาก

ราคาขายที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียว 50-60 ตารางวามีราคาประมาณ 1.5-2 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 2 ชั้นมีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหลัง โดยความต้องการซื้อส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียว แนวโน้มราคาที่ดินในอุบลราชธานียังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการโครงการบ้านจัดสรรที่ไม่ได้ซื้อที่ดินสะสมไว้ ต้องขยับขยายออกไปพัฒนาโครงการห่างออกไปจากตัวเมืองมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ไปพัฒนาตามแนวถนนวงแหวนรอบนอก สำหรับที่ดินใจกลางเมืองและบริเวณใกล้ศูนย์การค้าซึ่งมีราคาแพงมากนั้น ในอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยจากบ้านจัดสรรเป็นอาคารชุด แนวโน้มราคาบ้านจัดสรรจะปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 5 - 10 เนื่องจากราคาที่ดิน ราคาวัสดุก่อสร้าง และค่ารับเหมาก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น

จังหวัดมหาสารคาม
จังหวัดมหาสารคามเป็นจังหวัดที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงสุดในภาคอีสาน คือประมาณ 179 คนต่อตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 945,000 คน มีพื้นที่ประมาณ 5,300 ตารางเมตร ประกอบด้วย 13 อําเภอ มีจํานวนที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 265,500 หลังมหาสารคามเป็นเมืองการศึกษาที่สําคัญ โดยสถาบันอุดมศึกษาที่โดดเด่นที่สุดคือมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) มีนักศึกษารวมประมาณ 50,000 คน นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม ซึ่งมีนักศึกษาอีกประมาณ 22,000คน ยังไม่รวมบุคลากรอื่นๆด้านการศึกษา นักศึกษาที่มาศึกษาในมหาสารคามมีทั้งที่คนท้องถิ่น จากจังหวัดอื่นๆ และนักศึกษาจากจีนและ สปป.ลาว ด้วยเหตุที่จํานวนหอพักนักศึกษาไม่เพียงพอ จึงมีนักลงทุนประกอบกิจการหอพัก อพาร์ตเมนต์ จํานวนมาก หรือทําทาวน์เฮาส์ให้เช่า โดยทาวน์เฮาส์ชั้นเดียวสามารถปล่อยเช่าได้ในราคาประมาณ 6,500 บาทต่อเดือน และทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ปล่อยเช่าได้ในราคา 12,000 บาทต่อเดือน

มหาสารคามไม่มีสนามบิน นักเดินทางต้องใช้สนามบินขอนแก่นซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองมหาสารคามประมาณ 70 กิโลเมตร ส่วนการเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ใช้ระยะทางประมาณ 450 กิโลเมตร การเจริญเติบโตของเมืองและอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวรอบๆ มมส. ซึ่งราคาที่ดินแพงที่สุดในจังหวัด โดยเฉพาะบริเวณทางเข้ามมส. ถนนท่าขอนยาง ที่ดินราคาตารางวาละประมาณ 30,000-40,000 บาท และราคาที่ดินบนถนนดอนนาซึ่งซื้อขายกันไร่ละประมาณ 550,000 บาทเมื่อปี 2553 ปัจจุบันราคาเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละประมาณ 4 ล้านบาท ส่วนที่ดินบริเวณอื่นๆของอำเภอเมืองปรับเพิ่มประมาณเท่าตัวในปี 2555

การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ นอกจากอยู่บริเวณรอบสถานศึกษาแล้วยังขยายในส่วนอื่นของเมือง โดยเฉพาะแยกบายพาสทางไปจังหวัดขอนแก่น ซึ่งแม้ราคาที่ดินได้ปรับสูงขึ้นมากในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ที่อยู่อาศัยในเมืองยังมีราคาถูกกว่าในบริเวณ มมส. ราคาที่ดินในเมืองปรับเพิ่มขึ้นมากในหลายพื้นที่ ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยรายใหญ่ของจังหวัด ส่วนรายย่อยท้องถิ่นเน้นสร้างอาคารพาณิชย์ โดยร้อยละ 80 เป็นนักลงทุนจากจังหวัดอื่น เช่น ขอนแก่น สกลนคร กาฬสินธุ์ และชัยภูมิ โครงการบ้านจัดสรรที่อยู่ระหว่างการขายมีประมาณ 1,000 หน่วย โดยผู้ประกอบการจากจังหวัดอื่น เช่น ขอนแก่น สกลนคร ปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใหญ่จากส่วนกลางมาพัฒนาโครงการในจังหวัด แต่อาจมีอย่างน้อยหนึ่งรายอยู่ในระหว่างการจัดหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร

สำหรับโครงการอาคารชุด ซีพีแลนด์ได้เปิดโครงการกัลปพฤกษ์ สูง 8 ชั้น 4 อาคาร จำนวนประมาณ 320 หน่วย ในราคาประมาณ 800,000 - 1,500,000 บาท และได้เปิดขายเฟส 2 นอกจากนี้มีผู้ประกอบการท้องถิ่นเตรียมพัฒนาโครงการขนาดเล็กประมาณ 50 หน่วย และยังมีผู้ประกอบการโรงแรมและหอพักนำห้องหอพักมาปรับปรุงเป็นอาคารชุด

เนื่องจากเป็นเมืองการศึกษาจึงมีโรงแรมเปิดรองรับข้าราชการใช้เป็นสถานที่จัดสัมมนาและผู้ปกครองนักศึกษาซึ่งเดินทางมาในจังหวัด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากิจการโรงแรมดีขึ้นมาก พบว่าในปี 2556 มีโรงแรมเปิดใหม่ประมาณ 300 ห้อง ซึ่งเป็นอัตราการเปิดที่มากกว่าปกติ และราคาห้องพักปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 - 10 ในช่วงปีที่ผ่านมา

จังหวัดที่มีโครงการที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
จังหวัดบุรีรัมย์
จังหวัดบุรีรัมย์มีประชากรประมาณ 1,567,000 คน มีพื้นที่ประมาณ 10,300 ตารางกิโลเมตร มีที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 414,400 หลัง จังหวัดบุรีรัมย์มีความโดดเด่นที่ชัดเจนในระยะหลังจากการเป็นเมืองท่องเที่ยวทางการกีฬา เนื่องจากมีทีมฟุตบอลชั้นนําระดับประเทศและมีสนามแข่งขันที่ทันสมัย ในอนาคตอันใกล้จะมีการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เช่น ถนน 4เลนเชื่อมเมือง และมีโครงการนําสายไฟฟ้าลงใต้ดินระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้งบก่วา 60 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ดินใจกลางเมืองมีน้อยและส่วนใหญ่อยู่ในมือคหบดีที่ไม่ประสงค์จะขาย การเปลี่ยนมือมีน้อย และราคาสูงจากราคาประเมินที่ดินซึ่งประกาศโดยกรมธนารักษ์ พบว่าราคาที่ดินปรับขึ้นสูงเป็นลําดับต้นๆของภาคอีสาน ราคาที่ดินซื้อขายจริงสูงสุดอยู่ที่ตารางวาละ 8 หมื่นบาท จังหวัดบุรีรัมย์ยังไม่มีห้างสรรพสินค้าที่เป็นสาขาจากส่วนกลาง และมีห้างค้าปลีก เช่น แม็คโคร บิ๊กซี โฮมโปร ไทวัสดุ ฯลฯ ดังนั้นโครงการที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณใกล้ห้างค้าปลีกบิ๊กซีและถนนประโคนชัย โดยกําลังซื้อมาจากผู้ประกอบการข้ามอําเภอและจังหวัดใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม โครงการบ้านจัดสรรมีขนาดเล็ก คนส่วนใหญ่นิยมซื้อที่ดินปลูกสร้างบ้านเอง และโครงการจัดสรรที่ดินเปล่ามีน้อย ใช้แรงงานก่อสร้างคนอีสานเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ภายในปี 2556 จะมีการเปิดโครงการอาคารชุด 2 อาคาร ซึ่งพัฒนาโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เคยทําบ้านจัดสรรมาก่อน ในขณะนี้ ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใหญ่จากส่วนกลางเข้ามาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย แต่จากศักยภาพความเจริญเติบโตของจังหวัด คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะขยายตัวได้เร็วในอนาคต

จังหวัดนครพนม
จังหวัดนครพนมมีประชากรประมาณ 708,000 คน มีพื้นที่ประมาณ 5,500 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 12 อําเภอ มีที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 202,000 หลัง จังหวัดนครพนมมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นมาก ภายหลังจากการเปิดสะพานมิตรภาพไทย -ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คําม้วน) โดยในปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการเปิดสะพานมิตรภาพ มูลค่าการค้าชายแดนผ่านนครพนมมีเพียงประมาณ 4,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6,000 ล้านบาทในปี 2554 ต่อมาในปี 2555 มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8,000 ล้านบาท และในไตรมาสแรกปี 2556 เพียงไตรมาสเดียว มูลค่าการค้าพุ่งสูงขึ้นมากเป็น 18,000 ล้านบาท

การเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ตั้งแต่ปลายปี 2554 ทําให้ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว เช่น ที่ดินใกล้สะพานเดิมราคาไร่ละ 40,000-50,000 บาท เพิ่มเป็น 400,000-500,000 บาท ที่ดินนอกเมืองเดิมราคาไร่ละ 300,000-400,000 บาท เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท ส่วนที่ดินริมแม่น้ำโขงในอําเภอเมืองราคาเพิ่มจากไร่ละ 2-3 ล้านบาทเป็น 10 ล้านบาทขึ้นไป หรืออาจขึ้นถึงไร่ละ 20 ล้านบาท ที่ดินบริเวณถนนบายพาสปัจจุบันราคาไร่ละ 4-5 ล้านบาท

จังหวัดสกลนคร
จังหวัดสกลนครมีประชากรประมาณ 1,129,000 คน มีพื้นที่ประมาณ 9,600 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 18 อําเภอ มีที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 330,000 หลัง จังหวัดสกลนครเป็นเมืองการเกษตรเช่นจังหวัดอีสานทั่วไป แต่มีสภาพเป็นเมืองทางผ่าน ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก ไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในเชิงการท่องเที่ยว แต่ขณะนี้ มีการศึกษาแผนลงทุนสร้างถนนโดยเจาะอุโมงค์ภูพานทะลุไปกาฬสินธุ์ ระยะทาง 30กิโลเมตร

ตั้งแต่ปลายปี 2554 มีห้างค้าปลีกค้าส่งหลายรายมาเปิดกิจการ เช่น โฮมโปร ไทวัสดุ โกลบอลเฮ้าส์ ฯลฯ โดยมีห้างโรบินสันกําลังดําเนินการก่อสร้างในปัจจุบัน ทําให้ราคาที่ดินได้ปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวภายในเวลาเพียง 1-2 ปี เช่น ที่ดินบริเวณโรบินสัน เดิมไร่ละ 2 ล้าน เพิ่มเป็น 4 ล้าน ที่ดินบริเวณถนนบายพาส จากเดิมราคาไร่ละ 600,000บาท เพิ่มเป็น 2.4 ล้านบาท ส่วนที่ดินในเมืองบริเวณกกส้มฮง มีราคาสูงสุดตารางวาละ 13,000 บาท หรือไร่ละประมาณ 5 ล้านบาท มีผู้ประกอบการจัดสรรที่ดินเปล่าซึ่งขายได้ดีมาก โดยขายในราคาตารางวาละ 10,000 บาท หรือไร่ละ 4 ล้านบาท ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ซึ่งซื้อเงินสดโดยไม่กู้ธนาคาร ระยะเวลาผ่อนกับผู้ขาย 6 เดือน ลูกค้าอาจนําที่ดินเปล่าไปพัฒนาหอพัก หรือปลูกสร้างบ้าน หรือเก็งกําไร

มีโครงการบ้านจัดสรรของท้องถิ่นชื่อคล้ายบริษัทในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ มีรายงานข่าวว่ามีผู้ประกอบการรายใหญ่จากส่วนกลางกำลังจะเข้าพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร สกลนครมีอาคารชุดของของซีพีแลนด์ ชื่อ กัลปพฤกษ์ซิตี้พลัส ขณะเดียวกันมีผู้ประกอบการท้องถิ่นสนใจศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการอาคารชุดขนาดเล็กด้วย

จังหวัดกาฬสินธุ์
จังหวัดกาฬสินธุ์มีประชากรประมาณ 985,000 คน มีพื้นที่ประมาณ 6,900 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 18 อําเภอ มีที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 271,000 หลัง ประชากรของจังหวัดกาฬสินธุ์มักไปประกอบอาชีพต่างถิ่น ส่วนผู้ที่อยู่ในพื้นที่มักทําการเกษตร เนื่องจากจังหวัดกาฬสินธุ์อยู่ในแนวเส้นทาง East-West Economic Corridor ทําให้ที่ดินเริ่มมีการปรับราคาขึ้นสูง มีนักลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นซื้อที่ดินเพื่อทําโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรและพลังงาน โดยมีนักการเมืองสนับสนุน ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือคหบดีซึ่งไม่ปล่อยขาย มีที่ดินราชพัสดุจํานวนมาก โดยมีผู้เช่าที่ราชพัสดุก่อสร้างอาคารราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่นาห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตรมีราคาเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า จากไร่ละประมาณ 100,000-200,000 บาท เพิ่มเป็น 300,000-400,000 บาท

ที่ดินสําหรับพัฒนาโครงการจัดสรรปัจจุบันราคาไร่ละประมาณ 3 ล้าน และที่ดินบริเวณถนนกาฬสินธุ์ ถนนภิรมย์ ถนนเทศบาล 23 ถนนธนผล มีราคาสูงสุด ตารางวาละ 30,000-60,000 บาท อย่างไรก็ตาม ราคาที่ดินเริ่มชะลอการปรับขึ้นในปี 2556 เนื่องจากได้ปรับจากฐานต่ำมามากแล้วจนอาจไม่มีผู้ซื้อ มีผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการบ้านจัดสรรจริงจังเพียง 2-3 ราย สําหรับโครงการอาคารชุดนั้น เคยมีผู้ประกอบการเปิดขาย แต่มียอดจองไม่เพียงพอจึงไม่สามารถขึ้นโครงการได้ ขณะที่หอพักและอพาร์ตเมนต์จํานวนมาก ตามจํานวนแรงงานต่างอําเภอที่เข้ามาทํางาน

จังหวัดสุรินทร์
จังหวัดสุรินทร์มีประชากรประมาณ 1,386,000 คน มีพื้นที่ประมาณ 8,100 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 17 อําเภอ มีที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 357,000 หลัง จังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ติดชายแดนกัมพูชา ซึ่งหอการค้าจังหวัดพยายามผลักดันให้ด่านศุลกากรช่องจอม อําเภอกาบเชิง เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเส้นทางเสียมเรียบ -นครวัด-นครธม ซึ่งห่างจากจังหวัดสุรินทร์ประมาณ 170 กิโลเมตร ปัจจุบันไม่มีโครงการอาคารชุดเปิดขาย มีโครงการบ้านจัดสรรซึ่งเปิดตัวมากว่า 10 ปี และมียอดขายประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น ด้านธุรกิจค้าปลีก ในอําเภอเมืองกําลังมีการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่โดยรอบตามมาในอนาคต

จังหวัดร้อยเอ็ด
จังหวัดร้อยเอ็ดมีประชากรประมาณ 1,308,000 คน มีพื้นที่ประมาณ 8,300 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 20 อําเภอ มีที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 350,000 หลัง จังหวัดร้อยเอ็ดมีพืชผลด้านการเกษตร ทั้งข้าว มันสําปะหลัง และอ้อย มีโรงงานน้ำตาล และเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการลงทุนผลิตเอธานอล ปัจจุบัน มีการก่อส้รางห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และมีห้างค้าส่งค้าปลีกจํานวนมากเปิดให้บริการ ส่วนใหญ่อยู่บนถนนบายพาส

ราคาที่ดินปรับสูงขึ้นรวดเร็วหลังจากห้างสรรพสินค้าส่วนกลางเข้ามาลงทุน โดยหลังจากห้างสรรพสินค้าซื้อที่ดินในราคาไร่ละ 3 ล้านบาท ปัจจุบันที่ดินบริเวณใกล้เคียงมีราคาประมาณ 10-12 ล้านบาท ผู้ประกอบการโครงการจัดสรรส่วนใหญ่มักมีที่ดินแปลงใหญ่อยู่แล้ว และแบ่งการพัฒนาออกเป็นเฟส โดยอยู่ในบริเวณภายในถนนวงแหวน มีทั้งบ้านเดี่ยวและอาคารพาณิชย์ ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในจังหวัดร้อยเอ็ดมีความนิยมอาคารพาณิชย์มากขึ้น โดยจํานวนอาคารพาณิชย์บวกกับทาวน์เฮาส์น่าจะมีไม่น้อยกว่า 300 หน่วย อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ริมถนนในเมือง มีราคาประมาณ 3.8 ล้านบาท ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในร้อยเอ็ดส่วนใหญ่เป็นคนที่มาจากจังหวัดอื่น เพราะคนร้อยเอ็ดส่วนใหญ่มีบ้านเป็นของตนเองอยู่แล้ว จังหวัดร้อยเอ็ดมีอาคารชุดเปิดขายโครงการแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2555 อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

จังหวัดเลย
จังหวัดเลยมีความหนาแน่นของประชากรต่ำที่สุดในภาคอีสาน คือ เพียง 55 คนต่อตารางกิโลเมตร แต่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของภาคอีสาน รองจากนครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยภูมิ และอุดรธานี คือมีพื้นที่ประมาณ 11,400 ตารางกิโลเมตร แต่มีพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทั้งภูกระดึง ภูเรือ และภูหลวง มีประชากรประมาณ 630,000 คน ประกอบด้วย 14 อําเภอ มีที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 197,000 หลัง การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สําคัญอีกด้านของจังหวัด มีนักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดเลยประมาณ 1.1 ล้านคน มีรายได้สะพัดจากการท่องเที่ยวปีละกว่า 1,000 ล้านบาท

ที่อยู่อาศัยในจังหวัดเลยส่วนใหญ่เป็นบ้านที่ประชาชนสร้างบนที่ดินของตนเอง สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดเลยที่สําคัญมีเพียงมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มีนักศึกษาประมาณ 13,000 คน ปัจจุุบันยังมีจํานวนหอพักนักศึกษาไม่เพียงพอ คนเลยซึ่งมีฐานะดีมักซื้อที่อยู่อาศัยเป็นบ้านหลังที่สองในจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น หรือกรุงเทพฯ เพื่อเป็นที่พักสําหรับบุตรหลานและครอบครัวเมื่อต้องใช้บริการการศึกษาและสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ทําให้บ้านจัดสรรไม่เป็นที่นิยม ในทางตรงข้ามจังหวัดเลยเป็นพื้นที่เหมาะต่อการใช้ชีวิตวัยเกษียณ เนื่องจากมีพื้นที่อุทยานและป่าเขา ทําให้มีอากาศดี ดินดี ทําให้สามารถพัฒนาโครงการประเภทรีสอร์ทหรือบ้านพักสําหรับวัยเกษียณได้ราคาที่ดินในจังหวัดเลยเพิ่มขึ้นมาก จนผู้ประกอบการท่องถิ่นกล่าวว่าอาจแพงเกินจริง จัดทําโครงการที่อยู่อาศัยไม่ได้ เช่น ที่ดินริมถนนมะลิวัลย์ อําเภอเมือง ยังไม่ได้ถมดิน ราคาไร่ละ 14 ล้านบาท และที่ดินริมแม่น้ำโขง ที่อําเภอเชียงคาน มีประกาศขายที่ดินขนาด 56 ตารางวาในราคา 5 ล้านบาท หรือราคาตารางวาละประมาณ 90,000 บาท ส่วนที่ดินนอกอําเภอเมือง เช่น อําเภอด่านซ้าย อําเภอท่าลี่ มีราคาขายไร่ละประมาณ 1-2 ล้านบาท เนื่องจากมีการคาดหมายว่าในอนาคตจะมีผู้ต้องการที่ดินเพื่อประกอบกิจการโรงแรม รีสอร์ทมากขึ้น ราคาที่ดินจึงยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ได้ชะลอลงจากปี 2555 มีโครงการอาคารชุด 1 โครงการโดยสหกรณ์เครดิตยูเนียนของจังหวัดเป็นผู้พัฒนา ขายให้สมาชิกสหกรณ์

จังหวัดชัยภูมิ
จังหวัดชัยภูมิมีประชากรประมาณ 1,133,000 คน มีพื้นที่ประมาณ 12,800 ตารางกิโลเมตร ขนาด พื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสามของภาคอีสาน รองจากนครราชสีมาและอุบลราชธานี ประกอบด้วย 16 อําเภอ มีที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 355,000 หลัง เศรษฐกิจของจังหวัดพึ่งพิงการเกษตร แม้จะมีประชาชนจากภาคใต้มาซื้อที่ดินในจังหวัดปลูกยางพารามากขึ้น ในภาคอุตสาหกรรม มีโรงงานน้ำตาล โรงงานแป้งมัน แต่โรงงานสิ่งทอขนาดใหญ่ได้ปิดทําการไปหลายแห่ง เนื่องจากค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ โรงงานส่วนใหญ่จึงย้ายที่ตั้งไปลงทุนในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ทําให้รายได้ของประชากรในจังหวัดชัยภูมิลดลง ทักษะฝีมือของแรงงานลดลง อีกทั้งแรงงานท้องถิ่นหาได้ยาก

ทั้งนี้ ประชาชนในจังหวัดชัยภูมิยังนิยมปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง ไม่นิยมซื้อบ้านจัดสรร แต่โครงการอาคารพาณิชย์ในอําเภอเมืองขายดี โดยอาคารพาณิชย์ความสูง 3 ชั้นขายที่ราคาประมาณ 5 ล้านบาท และอาคารพาณิชย์ความสู ง 2.5 ชั้นขายที่ราคาประมาณ 3-4 ล้านบาท มีผู้ประกอบการบางรายซึ่งเป็นคหบดี สร้างอาคารพาณิชย์หลายคูหาแต่ไม่ขาย กลับนํามาปล่อยให้เช่า หรือใช้ในกิจการของตนเอง

ในตัวเมืองอําเภอชัยภูมิมีที่ดินราชพัสดุมาก และที่ดินเอกชนอยู่ในมือเจ้าของที่ดินรายใหญ่ประมาณ 4-5 ราย ราคาที่ดินปรับสูงขึ้นมากถึง 4-5 เท่าตัวในช่วงเวลาประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา โดยที่ดินในเมืองปัจจุบันมีราคาไร่ละประมาณ 8-10 ล้านบาท ที่ดินติดถนนด้านที่ไปอําเภอบัวใหญ่ หรือทางไปเส้นเลี่ยงเมืองราคาไร่ละประมาณ 4-5 ล้านบาท ที่ดินใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ เดิมราคาไร่ละประมาณ 500,000 บาท ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละประมาณ 2 ล้านบาท แต่หากเป็นที่ดินติดถนน ราคาไร่ละประมาณ 3 ล้านบาท ส่วนหนึ่งของผู้มาซื้อที่ดินมาจากส่วนกลางและภาคใต้

โดยภาพรวมที่ดินในจังหวัดชัยภูมิยังมีราคาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับจังหวัดใหญ่ใกล้เคียง ดังนั้น หากราคาที่ดินในจังหวัดใหญ่ทางภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจมีโอกาสที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะย้ายมาอยู่ในจังหวัดชัยภูมิมากขึ้น

จังหวัดยโสธร
จังหวัดยโสธรแยกออกมาจากจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่ พ.ศ. 2515 มีประชากรประมาณ 540,000 คน มีพื้นที่ประมาณ 4,200 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 9 อําเภอ มีที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 153,700 หลัง จังหวัดยโสธรเป็นเมืองทางผ่านที่ไม่มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว และไม่มีมหาวิทยาลัยประจําจังหวัด ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินได้ปรับเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัว แต่ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือคหบดีจึงไม่ค่อยมีการเปลี่ยนมือ ที่ดินราคาแพงที่สุดอยู่บนถนนแจ้งสนิท ราคาไร่ละประมาณ 8 ล้านบาท ส่วนบริเวณรอบนอกราคาไร่ละประมาณ 5-6 ล้านบาท ที่ดินบริเวณถนนทางไปจังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากเมืองออกไปประมาณ 4 กิโลเมตร ปรับเพิ่มขึ้นจาก 500,000 บาทเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นประมาณ 1 ล้านบาท สําหรับในปี 2556 ราคาที่ดินชะลอการปรับราคาเพราะที่ดินอยู่ในมือนักลงทุนหมดแล้ว ทั้งนี้ มีโครงการบ้านจัดสรรที่อยู่ระหว่างการขายมีน้อยมาก ยังไม่มีโครงการอาคารชุด

จังหวัดบึงกาฬ
จังหวัดบึงกาฬแยกออกมาจากจังหวัดหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2554 มีประชากรประมาณ 412,600 คน มีพื้นที่ประมาณ 4,300 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 8 อําเภอ มีที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 115,500 หลัง ปัจจุบัน มีนักลงทุนจีนจากมณฑลยูนานแสดงความสนใจจะมาตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ รวมถึงกําลังศึกษาแนวเส้นทางเพื่อการก่อสร้าง “สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5” (บึงกาฬ-บอลิคําไซ) ที่บ้านห้วยเซือมเหนือ ตําบลไคสี อําเภอเมือง หากสะพานก่อสร้างเสร็จในอนาคต จะเชื่อมต่อเส้นทางหมายเลข 13 และ 8 ของ สปป.ลาว ไปยังท่าเมืองวินห์ ของเวียดนาม และต่อไปถึงเมืองหนานหนิงของจีน ปัจจุบันมีจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนที่ด่านห้วยคาด และบ้านบุ่งคล้า จุดที่จะเสนอโครงการก่อสร้างสะพานอยู่ห่างจากเมืองออกไปราว 12 กิโลเมตร ใช้งบประมาณราว 2,000 ล้านบาท โดยฝัง สปป .ลาว ได้ทําถนน 4 เลนรองรับไว้แล้ว ขณะที่ฝั่งไทยได้เตรียมขยายถนน หมายเลข 212 (หนองคาย-บึงกาฬ) เป็น 4 เลนตลอดสาย

ราคาที่ดินมีการปรับเพิ่มขึ้นมาก 3-4 เท่าตัวตั้งแต่มีประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่ ราคาที่ดินแพงที่สุดอยู่บริเวณถนนหนองคาย-บึงกาฬ (ทล. 212) เนื่องจากมีห้างค้าปลีกบิ๊กซีมาซื้อที่ดิน ทําให้ราคาที่ดินแพงขึ้นเป็นไร่ละประมาณ 10-15 ล้านบาท รองลงมาเป็นถนนบึงกาฬ -พั งโคน (ทล. 222) ซึ่งเป็นเส้นทางไปสกลนคร ราคาไร่ละประมาณ 8-10 ล้านบาท เพิ่มจากไร่ละ 3 ล้านบาทเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ส่วนที่ดินบริเวณซึ่งคาดว่าจะใช้ก่อสร้างสะพานมิตรภาพใหม่ บริเวณบ้านห้วยเซือมเหนือ บ้านน้ำเซือม ราคาปรับขึ้นจากไร่ละประมาณ 100,000 บาท เป็นไร่ละประมาณ 1-1.5 ล้านบาท จากเดิมไร่ละประมาณ 100,000 บาท

จังหวัดหนองบัวลําภู
จังหวัดหนองบัวลําภูเป็นหนึ่งใน 3 จังหวัดใหม่ที่แยกมาจากจังหวัดอุดรธานี เมื่อ พ.ศ. 2536 พร้อมกับจังหวัดอํานาจเจริญและจังหวัดสระแก้ว จังหวัดหนองบัวลําภูมีประชากรประมาณ 505,000 คน มีพื้นที่ประมาณ 3,900 ตารางกิโลเมตร มีที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 134,200 หลัง เศรษฐกิจของจังหวัดพึ่งพิงภาคการเกษตร ได้แก่ ข้าว มันสําปะหลัง อ้อย และยางพารา พื้นที่โดยรวมมีพื้นที่ราบน้อย และที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ อีกทั้งยังไม่มีผังเมืองรวมจังหวัด ที่ดินในอําเภอเมือง มีราคาไร่ละประมาณ 3.5 ล้านบาท ส่วนที่ดินริมถนนรอบเมือง มีราคาไร่ละประมาณ 1-2 ล้านบาท อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ริมถนนในอําเภอเมืองหนองบัวลําภูมีราคาขายประมาณ 3.5 ล้านบาท

จังหวัดหนองคาย
จังหวัดหนองคายมีประชากรประมาณ 512,000 คน มีพื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่น้อยที่สุดในภาคอีสาน ประกอบด้วย 9 อําเภอ มีที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 156,000 หลังหนองคายเป็นจังหวัดชายแดนติดกับ สปป.ลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติ มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งแรก เชื่อมเทศบาลเมืองหนองคายกับบ้านท่านาแล้ง นครเวียงจันทน์ ทําให้ประชาชนทั้งสองฟากฝั่งสามารถเดินทางท่องเที่ยวและประกอบการค้าได้สะดวก
การพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรในจังหวัดหนองคายเริ่มมีขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ในปัจจุบันมีโครงการบ้านจัดสรรที่ยื่นจดทะเบียนกับกรมที่ดินประมาณ 200-300 หน่วย และมีโครงการในระหว่างการขายโครงการเดียว จํานวนประมาณ 60 หน่วย เป็นโครงการบ้านเดี่ยวชั้นเดียว ราคาประมาณ 2.3 ล้านบาท และไม่มีโครงการอาคารชุด (ในขณะที่ริมแม่น้ำโขง ฝั่ง สปป.ลาว กําลังมีการพัฒนาโครงการ Mixed Uses ระดับหรู 2-3 โครงการ โดยทุนจากจีนและเวียดนาม

จังหวัดมุกดาหาร
จังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดใหม่ที่แยกมาจากจังหวัดนครพนมเมื่อ พ.ศ. 2525 มีประชากรประมาณ 343,000 คน มีพื้นที่ประมาณ 4,300 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 7 อําเภอ มีที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านประมาณ 100,000 หลั ง เป็นจังหวัดชายแดนที่ติดต่อกับแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจของ สปป.ลาว จากการสํารวจไม่พบโครงการที่อยู่อาศัยที่มีนัยสําคัญ แต่พบว่าราคาที่ดินได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในตัวเมืองและในบริเวณริมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นย่านการค้าที่เรียกว่า ตลาดอินโดจีน โดยราคาที่ดินไดปรับเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัวในปี 2555 จากราคาไร่ละประมาณ 3-4 ล้านบาท เป็นไร่ละ 7-8 ล้านบาท ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่อยู่ตรงข้ามและเชื่อมต่อกับพื้นที่เศรษฐกิจสําคัญของ สปป. ลาว ทําให้ในอนาคตมุกดาหารมีโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ด้านการโรงแรม

บทสรุป

พื้นที่ภาคอีสานมีความกว้างใหญ่ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และประชากร แต่ในอดีตหลายทศวรรษที่แล้ว ถือเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ประชากรประสบกับความยากจน ไม่มีการพัฒนาเชิงสาธารณูปโภคมากนัก จวบจนกระทั่งในรอบ 10-20 ปีล่าสุด จึงมีความพยายามจากหลายภาคส่วนร่วมกันผลักดันโครงการสาธารณูปโภคและการขนส่งคมนาคม และทําให้ภาคอีสานมีความเติบโตดีขึ้น นอกจากนี้การเปิดสายการบินต้นทุนต่ำเป็นอีกปัจจัยสําคัญที่ทําให้การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนในจังหวัดต่างๆของภาคอีสานและพื้นที่อื่นๆของประเทศสะดวกสบายขึ้น จังหวัดในภาคอีสานรวม 20 จังหวัด มีความแตกต่างกันทั้งในด้านขนาดพื้นที่ จํานวนประชากร สภาพทางภูมิศาสตร์ ระยะทางจากกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่อื่นๆ รวมทั้งระยะทางในการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และสภาพความเป็นเมืองชายแดนหรือในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ อีกทั้งมีหลายจังหวัด เช่น ยโสธร หนองบัวลําภู อํานาจเจริญ บึงกาฬ มุกดาหาร ซึ่งถือเป็นจังหวัดค่อนข้างใหม่ที่แยกออกมาจากจังหวัดใหญ่ เช่น อุดรธานี อุบลราชธานี และหนองคาย

ภาคอีสานมีศักยภาพที่จะเติบโตได้มากในอนาคต จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC) ซึ่งจะทําให้มีการลงทุนหลั่งไหลมาสู่จังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานมากขึ้น ทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร และการขนส่งคมนาคมติดต่อกับประเทศในอินโดจีน ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม ตลอดไปถึงพื้นที่ตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
รัฐบาลที่ผ่านมาและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีแผนที่พัฒนาเส้นทางขนส่งคมนาคมหลากประเภท หลายเส้นทาง สู่ภาคอีสาน เช่น การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ ถนนขนาด 4 เลน การขยายสนามบินเพื่อรองรับเที่ยวบินเพิ่มเติมทั้งจากจังหวัดอื่นภายในประเทศและจากประเทศข้างเคียง ฯลฯ โครงการพัฒนาสาธารณูปโภคของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงสายอีสานซึ่งเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ และสิ้นสุดที่หนองคายจะเชื่อมผ่านจังหวัดอื่นๆ ด้วย ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจของภาคอีสานตอนบนเป็นอย่างมาก รวมทั้งการพัฒนาสนามบินเพิ่มเติมในจังหวัดยุทธศาสตร์สําคัญ จะทําให้พื้นที่ภาคอีสานทวีความสําคัญมากขึ้น และเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เมื่อความเจริญไปถึงในปัจจุบัน มีทุนจากส่วนกลางไปปักหลักพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งในเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัยในหลายจังหวัดของภาคอีสาน โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ห้างค้าส่งสินค้าและวัสดุก่อสร้าง

รูปแบบของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ในแต่ละจังหวัดหรือส่วนต่างๆ ของจังหวัด เช่น หากเป็นเมืองชายแดนหรือพื้นที่ชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง อาจมีอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรมหรือรีสอร์ท เช่น ที่อําเภอเชียงคาน จังหวัดเลย หากเป็นจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่หรือมีจํานวนนักศึกษามาก อาจมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทหอพัก อพาร์ตเมนต์ จํานวนมากตามไปด้วย เช่น ในจังหวัดขอนแก่น และมหาสารคาม และสําหรับในพื้นที่เศรษฐกิจใจกลางเมืองของจังหวัดใหญ่ซึ่งราคาที่ดินปรับสูงขึ้นมากย่อมเกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดจํานวนมาก เช่น ในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี

ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข
พัฒนาการทางเศรษฐกิจ การค้า และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็วในระยะหลัง ทําให้เศรษฐกิจของภาคอีสานดีขึ้น แต่ต้องแลกกับต้นทุนที่ดินที่มีราคาแพงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว เกิดการลงทุนและเก็งกําไรที่ดินในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ธุรกิจสําคัญของอําเภอเมืองในจังหวัดต่างๆ ราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในอนาคต เนื่องจากไม่สามารถพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่สอดคล้องกับกําลังซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และอาจส่งผลต่อตลาด ที่อยู่อาศัยในภาคอีสานโดยรวมต้องชะลอตัว ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับการซื้อที่ดินเพื่อเก็งกําไรในบริเวณ Eastern Seaboard ในช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ และทําให้ผู้ประกอบการโครงการบ้านจัดสรรที่ไม่ได้ซื้อที่ดินสะสม (Land Bank) ไว้ ต้องขยับการพัฒนาห่างออกไปจากตัวเมืองมากขึ้น และเมื่อประกอบกับราคาวัสดุก่อสร้างและค่ารับเหมาก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง จะยิ่งเป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ ใน ปัจจุบันผู้ประกอบการในภาคอีสานกําลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง เช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการในส่วนกลาง โดยแรงงานก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นแรงงานคนอีสานมากกว่าแรงงานต่างด้าว ซึ่งเมื่อราคาพืชผลทางการเกษตรสูงขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล ทําให้แรงงานคนอีสานกลับสู่ภาคการเกษตรและไม่กลับมาทํางานก่อสร้าง ขณะที่แรงงานต่างด้าวชาวลาวส่วนใหญ่จะใช้จังหวัดในภาคอีสานเป็นเพียงทางผ่านไปหางานทําในกรุงเทพฯหรือจังหวัดอื่นๆ ในบางพื้นที่มีความเติบโตมากจนสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับไม่ทัน จึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ ต้องกําหนดทิศทางการเติบโตของเมือง และการขยายระบบสาธารณูปโภคให้เพียงพอสอดรับกับความต้องการของประชาชนต่อไป โดยผังเมืองหลายจังหวัดของภาคอีสานอยู่ในระหว่างการพิจารณาทบทวนหรือในขั้นตอนการประชาพิจารณ์

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ภาคอีสานขณะนี้ มี ทุนจากต่างชาติ เช่น จีน ไต้หวัน ญี่ปุน ที่ยื่นขอลงทุนในอุตสาหกรรมเบาและหนักเพื่อใช้ประโยชน์จากระบบโลจิสติกส์ และเส้นทางขนส่งคมนามคมในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งมีทุนไทยจากส่วนกลางซึ่งเขากว้านซื้อที่ดินทํากิจการห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ห้างค้าส่ง มากขึ้นในหลายพื้นที่ ทางฝั่งนครเวียงจันทน์ สปป. ลาว ก็มีทุนต่างชาติจากจีนและเวียดนาม กําลังพัฒนาโครงการ Mixed Uses ขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยโรงแรม ศูนย์การค้า อาคารชุด ฯลฯ ประมาณ 3-4 โครงการ บริเวณถนนเรียบริมฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อโครงการเหล่านี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในอนาคตสถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ อาจมีประชาชนไทยเดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปจับจ่ายใช้สอยในบริเวณดังกล่าวของนครเวียงจันทน์มากขึ้น

ด้วยปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านี้ ภาคที่อยู่อาศัยในหลายจังหวัดของภาคอีสานจึงกําลังมีการปรับตัว และพัฒนาไปตามสภาพความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีผู้ประกอบการและนักลงทุนจํานวนมากทั้งในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคธุรกิจอื่น ที่หลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่เพื่อช่วงชิงโอกาสทั้งในแง่การลงทุนระยะยาว และการลงทุนในระยะสั้น หรือแม้กระทั่งการเก็งกําไร โดยเห็นได้ชัดเจนจากราคาที่ดินซึ่งปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในลักษณะ Too much, too soon หรือหลั่งไหลเข้ามาเร็วเกินไปจนปัจจัยพื้นฐานอาจรองรับไม่ทัน จึงเป็นสัญญาณเตือนให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มมีความผันผวนสูงขึ้นในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น