xs
xsm
sm
md
lg

Gen3 สานตำนานร้านสังฆภัณฑ์เสาชิงช้า หัวใจคือความสะดวก (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร้าน “ไตรทิพย์” ตั้งอยู่บริเวณเสาชิงช้าล่าง เป็นร้านติดกระจก
หากต้องการสินค้าประเภทเครื่องสังฆภัณฑ์ต่างๆ เชื่อว่าแหล่งซื้อหาที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงคงเป็นย่าน “เสาชิงช้า” ซึ่งมีร้านขายอุปกรณ์สังฆภัณฑ์รวมกันอยู่จำนวนมาก โดยหนึ่งในร้านเก่าแก่ คือ “ไตรทิพย์” อยู่คู่ย่านนี้มากว่า 40 ปี โดดเด่นด้วยการเป็นผู้บุกเบิกงานบริการที่เน้นความสะดวกสบายแก่ลูกค้า พื้นที่ร้านขนาดใหญ่ติดแอร์เย็นสบาย สินค้าครบวงจร พร้อมมีบริการหลังการขาย

ปัจจุบัน ธุรกิจร้าน “ไตรทิพย์” กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านมาสู่มือของทายาทรุ่น 3 “ภาณุวัฒน์ พงษ์กิตติหล้า” ที่วัยเพียง 25 ปี แต่ต้องมารับภาระนำพาร้านที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วให้ต่อยอดพัฒนามากขึ้นไปอีก ภารกิจครั้งนี้ จึงมีความน่าสนใจที่จะเข้าไปฟังแนวคิดและกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อจะไปถึงเป้าหมาย…
ภาณุวัฒน์ พงษ์กิตติหล้า
ภาณุวัฒน์ เกริ่นนำว่า ผู้ก่อตั้งร้านไตรทิพย์ คือ อากงของเขาเอง เมื่อ 41 ปีที่แล้ว ถือเป็นเจ้าแรกๆ ในย่านเสาชิงช้า ซึ่งเวลานั้น ยังเป็นร้านเล็กๆ ขายปลีกเฉพาะสินค้าประเภท “ผ้าไตรจีวร” เท่านั้น ทว่า จุดที่ทำให้ร้าน “ไตรทิพย์” เติบโตอย่างก้าวกระโดด เกิดขึ้นในยุคทายาทรุ่นสอง หรือรุ่นคุณพ่อและแม่ของเขานั่นเองที่กล้าทุ่มลงทุนกว่า 50 ล้านบาท ซื้อห้องแถว 6 คูหาย่านเสาชิงช้าล่าง เปิดเป็นร้านขนาดใหญ่ พร้อมปฏิวัติงานบริการของร้านสังฆภัณฑ์ใหม่หมด ให้ความสำคัญเพิ่มความสะดวกสบาย และที่สำคัญ ปรับตลาดหลักจาก “ค้าปลีก” มาเป็น “ค้าส่ง” ช่วยให้ยอดขายเพิ่มนับเท่าตัว

“เมื่อก่อนร้านขายสังฆภัณฑ์ทั้งหมดจะรวมกันอยู่โซนเสาชิงช้าบนเป็นร้านห้องแถวเล็กๆ ส่วนบริเวณที่ตั้งร้านอยู่ในปัจจุบันที่เรียกกันว่าโซนเสาชิงช้าล่าง ไม่มีร้านสังฆภัณฑ์อยู่เลย แต่คุณพ่อกับคุณแม่ผมเลือกที่จะมาลงทุนบุกเบิกเปิดร้านใหม่ โดยเฉพาะคุณแม่เป็นคนมีวิสัยทัศน์มาก ท่านเชื่อว่า หากมาบุกเบิกในย่านนี้ก่อน โดยทำเป็นร้านขนาดใหญ่ มีบริการที่สะดวกสบาย ซึ่งถือเป็นความแปลกใหม่ของร้านสังฆภัณฑ์ในเวลานั้น ทำให้กิจการของเราเติบโตอย่างมาก”

ด้วยขนาดพื้นที่ร้านใหญ่กว่าร้านอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียงกัน ทำให้เป็นจุดเด่น มีสินค้าหลากหลายครบวงจร มาพร้อมด้วยบริการต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายแก่ลูกค้า โดยทำเป็นร้านห้องกระจกติดแอร์ ให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้อย่างเย็นสบาย ซึ่งถือเป็นร้านแรกในเวลานั้น นอกจากนั้น เช่าพื้นที่ใกล้เคียงให้ลูกค้าจอดรถ และมีบริการส่งสินค้าให้ด้วย ในขณะที่ราคาสินค้ายังเหมือนเดิม ทำให้ร้านไตรทิพย์เป็นที่ถูกใจของลูกค้าขาประจำ และยังมีลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังกลายเป็นแหล่งขายส่งอุปกรณ์สังฆภัณฑ์เต็มรูปแบบ

“ผลตอบรับ หลังจากปรับปรุงร้านใหม่แล้ว ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะเราได้ทั้งลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะตลาดขายส่ง ซึ่งบริการต่างๆ ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่เรื่องราคาสินค้าของเราไม่ได้ปรับขึ้นตาม เนื่องจากเราสามารถไปเพิ่มสัดส่วนด้านปริมาณขายที่มากขึ้น และยังได้ส่วนลดจากผู้ผลิตมากขึ้น แม้สินค้าบางชิ้นอาจจะได้กำไรต่อหน่วยลดลง แต่เมื่อเทียบกับปริมาณขายที่มากขึ้น รวมกันแล้ว ก็ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก”
นำมาประดับพลอยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า
เนื่องจากคลุกคลีในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอุปกรณ์สังฆภัณฑ์มาตั้งแต่จำความได้ ภาณุวัฒน์บอกว่า เป้าหมายหลักของตัวเอง ตั้งใจมานานแล้วว่า อยากจะกลับมาช่วยสานต่อกิจการที่บ้าน หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) สาขาบริหาร เอกอสังหาริมทรัพย์ เข้าทำงานกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งอยู่ 2 ปี วัตถุประสงค์เพื่อต้องการศึกษาระบบการทำงานในองค์กรใหญ่ และหาประสบการณ์ เพื่อนำกลับมาปรับปรุงกิจการของครอบครัว

“ปัญหาของธุรกิจร้านสังฆภัณฑ์ส่วนใหญ่ คือ คนที่ดูแลกิจการในปัจจุบันมักจะเป็นคนค่อนข้างมีอายุ ทำธุรกิจนี้มานานแล้ว แต่พอมาถึงรุ่นลูกหลานคนรุ่นใหม่มักไม่อยากทำธุรกิจนี้ต่อ ทำให้ธุรกิจขาดช่วงการพัฒนา แต่สำหรับผมมีความตั้งใจแต่แรกอยู่แล้วว่า เราต้องการมาสานต่อกิจการครอบครัว เพราะผมคลุกคลีอยู่ในธุรกิจนี้มาตั้งแต่เด็ก และเราก็รู้สึกมีความสุขที่จะได้พัฒนากิจการของครอบครัวให้เติบโตขึ้นไปอีก”
ภาณุวัฒน์  และพ่อ
สำหรับแนวคิดในการสานต่อธุรกิจนั้น เขาระบุว่า มีทั้งคงสิ่งที่ดีเยี่ยมอยู่แล้วไปดำเนินต่อไปในทิศทางเดิม เช่น คงรูปแบบเป็นร้านค้าปลีกค้าส่งอุปกรณ์สังฆภัณฑ์ครบวงจร มีสินค้าแปลกแตกต่างจากร้านทั่วๆไป อาศัยตระเวนวิ่งหาสินค้าที่ตลาดต้องการจากโรงหล่อต่างๆ ทั่วประเทศ อีกทั้ง บางสินค้านำมาเพิ่มค่าด้วยตัวเอง เช่น ประดับเพชรพลอยใส่พระพุทธรูปเพิ่มความสวยงามและขายได้ราคาสูงขึ้น

ส่วนที่นำมาเสริม พยายามนำระบบบริหารจัดการสมัยใหม่มาช่วยอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะด้านการเช็คสต็อกสินค้า ที่กำลังนำระบบไอทีมาใช้ รวมถึง วางระบบฝ่ายบุคคล ทั้งด้านสวัสดิการต่างๆ ฝึกอบรมลูกจ้างที่ร้าน ตั้งงบเพื่อทำ CSR เพื่อคืนกำไรสู่สังคม นอกจากนั้น พยายามจะรวบรวมกลุ่มผู้ค้าสังฆภัณฑ์ในแถวเสาชิงช้า เพื่อจะกำหนดราคาขายที่เป็นกลาง หลีกเลี่ยงแข่งขันด้านตัดราคากันเอง
ด้านหน้าร้านไตรทิพย์
“ร้านค้าสังฆภัณฑ์ในย่านเสาชิงช้า การแข่งขันค่อนข้างสูง สินค้าหลายอย่างรับมาจากแหล่งเดียวกัน สุดท้ายก็จะไปจบที่แข่งกันขายตัดราคา ดังนั้น ผมจึงมีแนวคิดในการทำธุรกิจว่า เราไม่ควรจะมาแข่งกันเอง แต่ควรจะมาช่วยเหลือกันมากกว่า เพื่อแชร์ความแข็งแรงซึ่งกันและกัน ซึ่งในส่วนของร้านผม จริงๆ แล้วไม่ค่อยมีปัญหานัก เพราะเราเป็นรายใหญ่ มีความได้เปรียบหลายด้าน ทั้งฐานลูกค้า และเงินทุน แต่สำหรับร้านเล็กๆ สายป่วนไม่ยาว เขาจะลำบากมาก ผมจึงอยากให้เกิดความร่วมมือ เพื่อที่ผลประโยชน์จะเกิดแก่ทุกฝ่าย”

เขาเล่าด้วยว่า ปัจจุบัน ยอดขายของร้านไตรทิพย์มาจากการขายส่งกว่า 80% ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นร้านขายสังฆภัณฑ์ทั่วประเทศ ส่วนอีก 20% จะเป็นการขายปลีก ซึ่งลูกค้ามีทั้งซื้อไปถวายวัด มูลนิธิ ศูนย์ปฏิบัติธรรม และบูชาในบ้านเรือนตัวเอง ทั้งนี้ ปัจจุบัน ภายในร้านมีสินค้ามากกว่า 7,000 รายการ ตั้งแต่ชิ้นเล็กราคาไม่กี่บาทจนถึงพระพุทธรูปขนาดใหญ่ สินค้าขายดีที่สุด ได้แก่ พระพุทธรูปขนาดหน้ากว้าง 9 นิ้ว

ภาณุวัฒน์ ระบุว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณพ่อและคุณแม่ แล้วยึดมาเป็นสูตรสำเร็จในการทำธุรกิจร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ คือ ต้องมอบความสะดวกสบายมากที่สุดแก่ลูกค้า เนื่องจากสินค้าในหมวดนี้ มีความพิเศษที่ลูกค้ามักต้องการซื้อหาด้วยความสบายใจ ดังนั้น ต้องอำนวยความสะดวกทุกด้าน ทั้งเรื่องสถานที่ ที่จอดรถ บริการของพนักงาน และบริการหลักการขาย ฯลฯ

จากแนวคิดดังกล่าว เตรียมลงทุนครั้งใหญ่ ด้วยเงินนับร้อยล้านบาท โดยซื้อที่ดินใกล้ๆ กับร้านปัจจุบัน เนื้อที่เกือบ 1 ไร่ สร้างอาคารสูง 4 ชั้น เปิดเป็นศูนย์ขายอุปกรณ์สังฆภัณฑ์ครบวงจรใจกลางเมือง มีสิ่งอำนวยความสะดวกสมบูรณ์แบบ กำหนดเปิดภายในปีหน้า (2557)

“ต้องยอมรับว่า ร้านในปัจจุบัน ทั้งที่จอดรถก็ไม่พอจะบริการลูกค้า สินค้าก็เยอะจนในร้านแทบจะไม่มีที่วาง ไม่สามารถจัดเรียบสินค้าได้เป็นระเบียบ รวมถึงไม่มีที่จะเก็บสต็อกสินค้าด้วย ทำให้ต้องไปเช่าโกดังซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง ทำให้ผมปรึกษากับครอบครัวว่า ควรจะลงทุนสร้างอาคารขนาดใหญ่เป็นของตัวเอง ซึ่งพ่อกับแม่ของผม ท่านเป็นคนหัวสมัยใหม่อยู่แล้ว ก็เห็นด้วยที่จะลงทุนใหญ่”

“ถามว่าทำไม พวกเรากล้าจะตัดสินใจลงทุน เพราะเชื่อว่า ธุรกิจสังฆภัณฑ์เป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับเมืองไทย ซึ่งเป็นเมืองพุทธ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะบวกหรือลบ ผลกระทบจะไม่มากนัก ยอดขายเดินไปได้เรื่อยๆ อาจจะมีซบเซาบ้าง ในช่วงเกิดวิกฤตศรัทธาเกี่ยวกับวงการศาสนา แต่ก็เป็นแค่ชั่วครั้งคราว ในขณะที่ย่างเสาชิงช้า เป็นแหล่งซื้อหาสินค้าสังฆภัณฑ์ที่คนทั่วไปนึกถึง ในอนาคตอาคารที่เราจะสร้างขึ้น มันจะมาให้เติมเต็มในสิ่งที่เราเชื่อว่า หัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ คือ ความสะดวกสบาย ทั้งเรื่องสินค้าหลากหลาย พนักงานมีความรู้ สามารถอธิบายแนะนำได้อย่างถ่องแท้ มาพร้อมกับบริการต่างๆ ครบวงจรเป็น ONE STOP SERVICE CENTER แหล่งเดียวในย่างเสาชิงช้า”

แผนงานดังกล่าว นับเป็นย่างก้าวสำคัญ ส่วนผลสำเร็จจะเกิดขึ้นตามที่หวังไว้หรือไม่ จะเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของทายาทธุรกิจรุ่น 3 รายนี้ได้เป็นอย่างดี



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น