-สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย ยอมรับครึ่งปีแรกยอดส่งออก-ในประเทศยังอืด หลังได้รับผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และในประเทศ ระบุปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท กระทบกำลังซื้อกลุ่มรากหญ้าหายไป 3-4% เหตุรายได้ไม่สม่ำเสมอ ส่งผลกระทบการตัดสินใจซื้อชะลอตัว แจง 6 เดือนแรกตลาดในประเทศโต 6% มั่นใจทั้งปีโต 10% ตามเป้า เหตุเข้าสู่ฤดูขาย ผู้ประกอบการเร่งส่งสินค้าตามออเดอร์ที่สะสมมาตั้งแต่ต้นปี
นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การขยายตัวของตลาดเฟอร์นิเจอร์ส่งออกค่อนข้างอืด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกอบการก็ยังได้เปรียบจากอัตราการแลกเปลี่ยน ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ประกอบการทำให้มีส่วนต่างทางรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น 5-7% ทำให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา รายได้จากการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ยังขยายตัวตามเป้าประมาณการซึ่งวางไว้ 5%
ส่วนตลาดเฟอร์นิเจอร์ในประเทศนั้น ในช่วงต้นปีการขยายตัวไม่หวีอหวาอย่างที่คาด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และปัญหาการปรับเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าในตลาดระดับรากหญ้าลดลง เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ โดยในกลุ่มลูกค้าที่หายไปนี้คิดเป็น 3-4% ของดีมานด์ในตลาดรวม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจัยลบข้างต้นจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของยอดขายในช่วง 6 เดือนแรก แต่เนื่องจากการขยายตัวของตลาดเฟอร์นิเจอร์ยังขยายตัวตามธุรกิจอสังหาฯ ที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่จำนวนมาก ทำให้ตลาดรวมเฟอ์นิเจอร์ยังขยายตัวที่ระดับ 6% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในประมาณการของสมาคมซึ่งประมาณการว่าตลาดรวมในปีนี้จะขยายตัวอยู่ในระดับ 5-10%
ทั้งนี้ สมาคมฯ มั่นใจว่าทั้งปีตลาดรวมในประเทศจะมีอัตราการขยายตัวได้ถึง 10% เนื่องจากในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้เป็นช่วงไฮซีซัน หรือฤดูกาลขายของตลาดเฟอร์นิเจอร์ ประกอบกับก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการแต่ละรายได้มีการตุนแบ็กล็อกไว้ในมือแล้วค่อนข้างมาก จะส่งผลให้ในปีนี้ตลาดรวมเฟอร์นิเจอร์จะสามารถขยายตัวได้สูงถึง 10% แน่นอน
“ปัจจุบันตลาดรวมเฟอร์นิเจอร์ส่งออก และในประเทศมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 70,000-80,000 ล้านบาท โดยตลาดในประเทศจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยในส่วนของตลาดในประเทศนั้นสมาคมฯ จะมีการตั้งเป้าการขยายตัวในทุกๆ ปีไม่ต่ำกว่า 5% ไม่ว่าจะมีปัจจัยลบอะไรที่เข้ามากระทบก็ตาม แต่หากปีไหนไม่มีปัจจัยลบเข้ามา ประมาณการการขยายตัวของตลาดจะเพิ่มสูงขึ้น”
นายอารักษ์ กล่าวว่า แม้ว่าธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จะเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งการขยายตัวขึ้นลงของธุรกิจอสังหาฯ จะมีผลต่อธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ดังนั้น อาจถูกมองว่าการชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในปัจจุบัน แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่าการตัดสินใจซื้อเฟอร์นิเจอร์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมที่มีการซื้อเฟอร์นิเจอร์ในการตกแต่งบ้านใหม่เป็นส่วนใหญ่
โดย ณ ปัจจุบัน การซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่นั้นเป็นไปตามเทรนด์ และไลฟสไตล์ของลูกค้า หรือ กล่าวได้ว่า เฟอร์นิเจอร์แทบจะกลายเป็นสินค้าแฟชั่นที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่ไปตามแฟชั่น หรือเทรนด์ตลาดอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การแข่งขันของผู้ประกอบการในตลาดจึงเน้นในเรื่องของการออกแบบดีไซน์สินค้าอยู่ตลอดเวลา
นายกสมาคมฯ กล่าวถึงงาน TFIC Ferniture Outlet 2013 ว่า ในปีนี้สมาคมตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 60,000 คน หรือมีจำนวนผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นกว่า 10% จากปีก่อน และจะมียอดขายในงานกว่า 150 ล้านบาท โตจากปีก่อนหน้าที่มียอดขาย 120 ล้านบาท ประมาณ 25% โดยงานนี้ใช้พื้นที่จัดงานกว่า 15,000 ตารางเมตร โดยมีบริษัทเฟอร์นิเจอร์ออกบูทมากกว่า 100 ราย
“เชื่อว่างานนี้จะเป็นอีกงานหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อเฟอร์นิเจอร์เร็วขึ้น เนื่องจากผู้แสดงสินค้าในงานเป็นมืออาชีพตัวจริงเสียงจริง สินค้ากว่า 80% ที่มาออกบูทในงานได้รับมาตรฐานสินค้าส่งออก ซึ่งนำมาลดราคาขายเพื่อให้ผู้บริโภคได้ของดีราคาเหมาะสม โดยสินค้าในงานจะลดราคาตั้งแต่ 25-70% นอกจากนี้ ยังมีการจัดแคมเปญพิเศษของแต่ละบูทอีกมากมาย”