xs
xsm
sm
md
lg

ความเชื่อมั่นทองคำระยะสั้นพุ่ง เชื่อมีโอกาสเห็นแตะ 1,500 ดอลลาร์/ออนซ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กูรู” ชี้ทองยังเล่นสั้นได้ เผยความเชื่อมั่นทองคำระยะสั้นพุ่ง เชื่อมีโอกาสเห็นแตะ 1,500 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือบาทละ 22,500 บาท แนะกลยุทธ์เล่นสั้น 1 เดือนได้

นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือน ก.ย. อยู่ที่ 63.99% เพิ่มจากเดือนก่อนหน้า 19.94% และถือว่าเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนทัศนคติเชิงบวกของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อราคาทองคำ

ภาพรวมภาวะทองคำในขณะนี้มีความผันผวน โดยความเชื่อมั่นต่อราคาทองคำของผู้ลงทุนและกลุ่มผู้ค้าไม่สอดคล้องกัน โดยทางกลุ่มผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นสูงกว่าผู้ค้าทองคำ ดังนั้น แนะนำให้นักลงทุนเล่นลงทุนในระยะสั้นเพราะเชื่อว่า 1 เดือนนี้ ราคาทองคำน่าจะอยู่ในช่วง 21,000-22,500 บาท บนสมมติฐานค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าที่ระดับ 32 เหรียญสหรัฐ และหากคิดเป็นเงินสกุลสหรัฐจะอยู่ที่ 1,340-1,480 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ได้

ทั้งนี้ หากราคาทองปรับขึ้นถึง 22,500 บาท นั่นหมายความว่าราคาจะต้องปรับขึ้นอีกบาทละ 1,500 บาท จากราคาปัจจุบันราคาทองคำแท่งรับซื้อที่ 20,900 บาท และขายออก 21,000 บาท

กรณีปัญหาความรุนแรงในประเทศซีเรีย หากสหรัฐอเมริกามีข้อสรุปโจมตีซีเรียอาจหนุนให้ราคาทองคำแตะระดับ 1,500 เหรียญสหรัฐได้ ส่วนราคาทองในประเทศมีโอกาสแตะ 22,500 บาท ซึ่งนักลงทุนยังคงต้องติดตามข้อสรุปจากสภาคองเกรสในช่วงวันที่ 9 ก.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมราคาทองคำในระยะยาวยังเป็นขาลง เนื่องจากการชะลอมาตรการคิวอีเป็นปัจจัยกดดัน และอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนทุกประเภท นอกจากนี้ ยังต้องติดตามถึงภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะการขยายตัวเศรษฐกิจของเอเชียในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล เลขานุการอนุกรรมการส่งเสริมวิชาชีพช่างทำทองรูปพรรณ กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมค้าทองคำประสบปัญหาขาดแคลนช่างทองรูปพรรณ ซึ่งเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก 1.ระหว่างปี 2553-2555 ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็ว ทำให้ความต้องการซื้อทองรูปพรรณลด และหันไปนิยมซื้อทองคำแท่งเพื่อการลงทุนแทน 2.ค่าแรงไม่จูงใจพอ ขณะที่เป็นงานที่ต้องอาศัยการสั่งสมทักษะ 1-2 ปี และ 3.มีการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทน

ผลดังกล่าวทำให้จำนวนช่างทองลดลงมากกว่า 45% ของจำนวนช่างทองที่เคยมีการสำรวจในช่วงก่อนปี 2552 ที่มีจำนวน 2-3 หมื่นคน

ปัจจุบัน ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิชาชีพช่างทำทองรูปพรรณขึ้นมา เพื่อสนับสนุนภาคแรงงานทองรูปพรรณเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน อยู่ระหว่างการหารือกับภาครัฐบาล และเอกชนในการสนับสนุนพัฒนาช่างทองรูปพรรณเพิ่ม

หน่วยงานดังกล่าวจะประสานงานเพื่อพัฒนาบุคคลที่จะมาเป็นช่างทอง ซึ่งแบ่งหลักสูตรออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ หลักสูตรระยะสั้น เช่น การออกแบบลวดลาย โดยใช้ระยะเวลา 6 เดือน และหลักสูตรขั้นสูง ซึ่งจะสอนการทำทองรูปพรรณที่เป็นระดับมาสเตอร์ หรือการทำทองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่น ทองสุโขทัย เป็นต้น โดยคาดว่าน่าจะเริ่มต้นได้ในช่วงสิ้นปีนี้ หรือปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น