ธปท.เกาะติดสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ใกล้ชิด ยอมรับตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล หวั่นอาจส่งผลต่อหนี้ภาคครัวเรือนให้ปรับตัวเร็วขึ้น เพราะสถานการณ์เปราะบาง สามารถลามไปถึงภาคการบริโภคได้อย่างรวดเร็ว
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.ได้ติดตามสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างใกล้ชิด แม้จะมีสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือนต่อสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ แต่อาจส่งผลต่อหนี้ภาคครัวเรือนให้ปรับตัวเร็วขึ้น ทำให้ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนมีความเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่องที่ลดลง หรือภาระการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ไตรมาสแรก ปี 2556 ที่ผ่านมา พบว่า ภาคครัวเรือนไทยมีภาระในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือเฉลี่ยแล้วหากครัวเรือนมีรายได้ต่อเดือน 100 บาท ต้องนำเงิน 34 บาท ไปชำระหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย โดยระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้นอาจส่งผลให้สภาพคล่องของภาคครัวเรือนปรับลดลง และภาระในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้ในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นการนำไปซื้อสินทรัพย์ เช่น บ้าน และรถยนต์ แต่สินทรัพย์เหล่านี้มีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ ซึ่งขายได้ไม่เร็ว รวมถึงราคาก็อาจปรับลดลงได้ และหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ภาระหนี้สินที่ครัวเรือนมีอยู่มากอาจส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน และเศรษฐกิจชะลอตัวในที่สุด
โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนี้ภาคครัวเรือนของไทยเร่งตัวขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปัจจัยที่สนับสนุน เช่น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการแข่งขันปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีภาระในการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ที่อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากเศรษฐกิจชะลอตัวลง และกระทบต่อรายได้ภาคครัวเรือน