ธปท. โต้สภาพัฒน์ ยันส่งออก-ค่าบาทแข็ง ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักฉุด ศก. พร้อมสั่งทีมตรวจสอบตัวเลขอุปสงค์ใหม่ กังขาตัวเลขสภาพัฒน์ต่ำเกินจริง ลั่นพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินหากเศรษฐกิจโตต่ำ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า ตัวเลขมูลค่าการเติบโตของการส่งออกสินค้า และบริการมีความใกล้เคียงกัน รวมถึงมูลค่าการนำเข้า สะท้อนว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ ธปท.และสภาพัฒน์ประเมินไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกต่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน แต่เป็นปัจจัยจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ซึ่งตัวเลขของทั้ง 2 แห่งมีการรายงานที่แตกต่างกันมาก
อย่างไรก็ตาม ธปท.พร้อมที่จะพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินหากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจริงตามที่สภาพัฒน์ระบุ แต่ทั้งนี้ มีข้อสังเกตในส่วนของตัวเลขการอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะด้านการอุปโภคบริโภค ซึ่ง ธปท.ประเมินไว้ที่ 5.8% ขณะที่สภาพัฒน์ รายงานไว้เพียง 4.2% ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศไตรมาสแรกของสภาพัฒน์อยู่ที่เพียง 3.9% จากการประเมินของ ธปท.ที่สูงถึง 6.3%
โดยในส่วนนี้คาดว่าอาจเป็นผลจากตัวเลขฐานข้อมูลที่นำมาประเมินที่ไม่ตรงกัน ดังนั้น จึงได้เตรียมทีมงานเข้าไปตรวจสอบข้อมูล และจะนำมาวิเคราะห์ใหม่ เพื่อใช้ในการตัดสินใจของ กนง.ในการประชุมวันที่ 29 พ.ค.นี้
ทั้งนี้ จีดีพีไตรมาสแรกที่สภาพัฒน์ประกาศค่อนข้างน้อยกว่าที่คาดการณ์ แต่มีจุดที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือ ตัวเลขอุปสงค์ในประเทศของสภาพัฒน์ต่ำกว่าคาดการณ์ของ ธปท.ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ต่ำเป็นพิเศษ
ตอนนี้ได้ให้ทีมงานดูอยู่ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่การที่ กนง.จะตัดสินใจก็ต้องมาจากเหตุที่ทีมงานหาข้อมูลมาวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจว่ามีมากน้อยเพียงใด ตัวเลขข้อมูลที่ต่างกันจะทำให้เมื่อเทียบออกมาแล้วมีความแตกต่างกันได้