xs
xsm
sm
md
lg

“ซีพีเอฟ” แนะเกษตรกรขยายฟาร์มสีเขียวลดปัญหาขาดทุน รัฐต้องดูแลเสถียรภาพราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ซีพีเอฟ” แนะเกษตรกรขยายฟาร์มสีเขียว ลดปัญหาขาดทุน พร้อมแนะรัฐบาลควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้วยการบริหารราคาสินค้าให้เป็นไปตามกลไกการตลาด

นายสมควร ชูวรรธนะปกรณ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหารสายธุรกิจสุกร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ในอนาคตผู้ประกอบการปศุสัตว์ไทยต้องลงทุนด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภายใต้กฎเกณฑ์ภาคบังคับเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) ในวงเงินสูง เพื่อรองรับการขยายฟาร์ม และยังมีปัจจัยด้านอื่นที่สำคัญ เช่น ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากคนในชุมชน ปัญหาโรคระบาด การขาดแคลนแรงงาน ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ผันแปรตามสภาพอากาศ ทำให้บางปีผลผลิตธัญพืชน้อยลง ระบบลอจิสติกส์ และการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะทำให้การขยายฟาร์มปศุสัตว์ในอนาคตเป็นไปอย่างยากลำบาก

ผู้ประกอบการฟาร์มจึงต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และลงทุนในด้านมาตรฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามกระแส Green Policy อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อยกระดับมาตรฐานฟาร์มด้วยการลงทุนสูง เพื่อให้ผ่านมาตรฐาน และเข้าสู่มาตรฐานสากล เพราะปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงทั้งโรคระบาดใหม่ การขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงงานสูงขึ้น และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไม่แน่นอน จนกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ และยังมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และมีราคาสูง จึงเป็นความเสี่ยงของภาคปศุสัตว์ เนื่องจากเป็นต้นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 65

นายสมควร เสนอแนะว่า ภาคปศุสัตว์จะอยู่รอดได้ต้องปรับตัวหลายด้านด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในฟาร์มเพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และอัตราค่าจ้างแรงงานสูง ส่วนปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ และมีราคาไม่แน่นอน อาจต้องนำเข้าเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ขาดแคลน เช่น ไทยผลิตข้าวโพดได้ประมาณปีละ 4-5 ล้านตัน เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และยังสามารถส่งออกได้บางส่วน ส่วนกากถั่วเหลืองนั้นยังต้องนำเข้าประมาณร้อยละ 20 ของความต้องการในประเทศ

แม้ต้องยกระดับมาตรฐานฟาร์ม การเลี้ยง และเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับมาตรฐานระดับนานาชาติแล้ว แต่การเดินหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นตัวผลักดันให้ไทยต้องเข้าสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น เพื่อผลิตอาหารคุณภาพเพื่อรองรับประชาคมโลกด้วย ขณะที่เกษตรกรรายย่อยยังมีทางออก และสามารถอยู่รอดได้ด้วยการรวมตัวเป็นกลุ่มตัวกันในรูปสหกรณ์ เช่นเดียวกับยุโรป เพื่อให้เกิดความร่วมมือ และเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้กลายเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาด และเสริมสร้างความสามารถในการลงทุน หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือ การเป็นพันธมิตรกับบริษัทใหญ่ที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และประสิทธิภาพทางการตลาดพร้อมถ่ายทอดให้ได้

ส่วนรัฐบาลควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้วยการบริหารราคาสินค้าให้เป็นไปตามกลไกการตลาด วางแผนจัดสรรพื้นที่เพื่อการทำปศุสัตว์ในลักษณะของฟาร์มแบบผสมผสาน (Combination Farm) ระหว่างสัตว์กับพืช โดยเลือกพืชที่ต้องปุ๋ยจากปศุสัตว์ และรัฐบาลควรสร้างแรงจูงใจ (incentive) แก่ฟาร์มที่สามารถปฏิบัติมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้อย่างเคร่งครัด เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตของประเทศให้สอดคล้องกับนานาชาติ รวมถึงการกำหนดแผนป้องกันโรคระบาดระดับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อวางมาตรฐานคุ้มครองโรค
กำลังโหลดความคิดเห็น