ออมสินทำหน้าที่พี่ใหญ่เอทีเอ็มพูลแบงก์รัฐ พร้อมใช้สาขา และเครื่องเอทีเอ็มที่มีกว่า 3 พันตู้ ให้บริการลูกค้าแบงก์รัฐทั้งหมด ยกเว้น ธ.ก.ส. ดีเดย์ฟรีค่าธรรมเนียมถอนเงินให้ ธอส. และไอแบงก์ เริ่ม ส.ค.นี้ จากนั้นพิจารณาปีต่อปี ลั่นยอมกำไรลดถือเป็นการคืนกำไรให้สังคม
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานสภาสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ในฐานะที่ออมสินเป็นสถาบันการเงินของรัฐที่มีความพร้อมที่สุดในด้านของทรัพยากรทั้งสาขาที่มีกว่า 900 แห่ง และน่าจะมีถึง 1,000 แห่งในสิ้นปี้ และตู้เอทีเอ็มที่มีถึง 3,000 ตู้ จึงพร้อมเป็นสถาบันการเงินที่รองรับการทำธุรกรรมถอนเงิน หรือสอบถามยอดโดยบัตรเอทีเอ็มของแบงก์รัฐอื่นๆ ด้วยในอนาคต จากปัจจุบันมีเพียงธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่ใช้บริการเครื่องเอทีเอ็มของออมสิน
ทั้งนี้ เพื่อความร่วมมือกันของสถาบันการเงินของรัฐ หรือเอสเอฟไอที่ลงนามร่วมกันจัดตั้งเป็นสภาฯ มากขึ้น ล่าสุด ออมสินได้เปิดกว้างให้ลูกค้า 2 ธนาคารดังกล่าวใช้บริการเครื่องเบิกถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มของออมสินได้ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียม โดนไม่จำกัดจำนวนครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ จากเดิมที่จำกัดให้ใช้บริการได้ฟรี 3 ครั้งต่อเดือน จากนั้นจะคิดค่าธรรมเนียมรายการละ 15 บาท
“ออมสินยอมแบกรับค่าต้นทุนจากค่าธรรมเนียมที่ยกเว้นให้สำหรับลูกค้าของทั้ง 2 แบงก์ และพร้อมจะขยายไปยังแบงก์รัฐอื่นๆ ด้วย ยกเว้นของ ธ.ก.ส.ที่ระบบแยกออกไปต่างหากจากการให้เอกชนเข้ามาวางระบบให้บริการเอทีเอ็ม โดยการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้บริการตู้เอทีเอ็มดังกล่าว จะพิจารณาเป็นปีต่อปี” นายวรวิทย์ กล่าวและว่า การให้บริการดังกล่าวถือเป็นประโยชน์ของลูกค้าแม้จะทำให้รายได้จากค่าธรรมเนียมลดลงไปโดยถือเป็นการทำซีเอสอาร์ไปในตัว เพราะออมสินไม่ได้มุ่งหวังกำไรมากที่สุดอยู่แล้ว แต่ละปีกำไรอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านเทียบกับแบงก์พาณิชย์ถือว่าน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม สมาชิกของสถาบันการเงินของรัฐจะมีการหารือเพื่อศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสถาบันการเงินของรัฐร่วมกันในด้านต่างๆ เช่น การใช้บริการศูนย์บริหารเงินสด และการใช้ระบบหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็ค และระบบการจัดเก็บภาพเช็คร่วมกันต่อไปในอนาคต สำหรับสมาชิกทั้งหมด 9 แห่ง นอกจากออมสิน ยังมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (ธสน.) บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บตท.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) และธนาคารกรุงไทย