เอ็มดี “กรุงศรี” เผยมิตซูบิชิฯ เตรียมถกแผนธุรกิจรายย่อยในสัปดาห์หน้า มั่นใจได้ฐานลูกค้าญี่ปุ่นในไทยเพิ่ม พร้อมคาดอาจมีการแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ และการลงทุน ทิศทางการดำเนินธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง หรือแต้มต่อในการรุกธุรกิจ คาดกำหนดนโยบายได้ต้นปี 57 หลังแผนการซื้อขายหุ้นแล้วเสร็จในสิ้นปี
นายฐากร ปิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ: BTMU) จะเข้ามาถือหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา ต่อจากกลุ่มจีอีว่า ในสัปดาห์หน้า ผู้บริหารจากญี่ปุ่นจะเข้ามาประชุมร่วมกับธนาคารเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ และการลงทุน ทิศทางการดำเนินธุรกิจรายย่อย การบริหารความเสี่ยง หรือแต้มต่อในการรุกธุรกิจรายย่อยของธนาคาร ส่วนการกำหนดนโยบายธุรกิจรายย่อยคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง หรือราวต้นปี 2557 เนื่องจากต้องรอให้การซื้อขายหุ้นเสร็จเรียบร้อยในสิ้นปีนี้ก่อน
“ที่ผ่านมา แบงก์กลุ่มของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเซียล กรุ๊ป (MUFG) จะมีความเชี่ยวชาญสินเชื่อรายใหญ่ และมีพอร์ตสินเชื่อรายย่อยไม่มากนัก แต่ถึงกระนั้น ยอดบัตรเครดิตที่มีอยู่ก็ยังสูงถึง 22 ล้านใบในญี่ปุ่น หากเข้ามาก็ต้องชี้แจงข้อมูลธุรกิจรายย่อยของเรา ทั้งจำนวนสาขา เงินฝากสินเชื่อรายย่อย มองตรงกันหรือไม่ จะโตอย่างไร โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อที่จะมีทิศทางอย่างไรจากเดิมที่ธนาคารมีการกระจายสินเชื่อไปทั้งการให้สินเชื่อรถใหม่ รถมือสอง และคาร์ฟอร์แคช แต่ BTMU อาจจะมีลูกค้ากลุ่มยานยนต์จากญี่ปุ่น เช่น ฮอนด้า โตโยต้า จะต้องปรับกลยุทธ์อย่างไร”
โดยในส่วนของการรุกธุรกิจรายย่อยในภูมิภาคที่ธนาคารกรุงศรีเคยมีแผนอยู่แล้วนั้น ทาง BTMU ยังต้องการให้ดำเนินการตามแผนก่อนหน้านี้ แม้ว่าที่ผ่านมา MUFG จะเข้าไปลงทุนในธนาคารหลายประเทศในภูมิภาคนี้แล้วก็ตาม โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าไปทำธุรกิจสินเชื่อขนาดเล็กหรือไมโครไฟแนนซ์ในประเทศลาว ทั้งธุรกิจเช่าซื้อ และบัตรเครดิต
ขณะที่พม่า และกัมพูชานั้น อยู่ระหว่างการทำการศึกษาตลาดอยู่ว่าจะทำธุรกิจไปในทิศทางใด ซึ่งก็หวังว่าหากธนาคารมีความพร้อม ทาง MUFG จะใช้เครือข่ายธุรกิจรายย่อยของธนาคารเป็นศูนย์กลาง หรือฮับในการรุกธุรกิจรายย่อยของภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตาม การที่มีผู้ถือหุ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จากญี่ปุ่น จะเป็นโอกาสสำหรับการขยายฐานธุรกิจรายย่อยของธนาคารได้มากขึ้น โดยเฉพาะการขยายฐานลูกค้าญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย โดยในขณะนี้ บริษัทญี่ปุ่นในเมืองไทยมีมากกว่า 200-300 แห่ง ที่ธนาคารสามารถชวนมาใช้บริการเดินบัญชี เปิดบัตรเดบิต จ่ายบัญชีเงินเดือน หรือสินเชื่อสวัสดิการให้พนักงานได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างความเหนียวแน่นกับคู่ค้าชาวญี่ปุ่นเพื่อเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่ธุรกิจได้อีกด้วย