“จรัมพร” ประเมินผลกระทบ “คิวอี” ครั้งนี้ ทุนนอกไหลออกไม่มากเท่าวิกฤต “ซับไพรม์” ที่เกิดเงินไหลออกถึง 1.4 แสนล้าน ระบุ ดัชนีหุ้นไทยร่วงแค่ 20-25% ยังไม่ถึงขั้นผิดปกติ และปัจจัยที่กระทบเป็นประเด็นในต่างประเทศ “โฆษิต” ชี้เฟดลดขนาด “คิวอี” แค่ปฐมบทโหมโรงเท่านั้น คาดยังมีเอฟเฟกต์อีกหลายระลอก เตือนรับมือตลาดเงิน-ตลาดทุน ยังผันผวนต่อไปอีก 1 ปี “ชาติศิริ” มองปัจจัยการเมืองเริ่มร้อนแรง
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงภาพรรวมการประเมินสถานการณ์ของตลาดหุ้นไทย โดยมองว่า การที่ดัชนีปรับตัวลดลง 20-25% เป็นเรื่องที่ปกติ ซึ่งปัจจัยที่กดดันให้ดัชนีปรับตัวลดลงเป็นประเด็นจากต่างประเทศมากกว่า อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีปัญหาเรื่องภาวะเศรษฐกิจ
นายจรัมพร ยังประเมินว่า เงินทุนต่างชาติที่ไหลออก ณ ปัจจุบัน จะไม่วิกฤตถึงระดับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤตซับไพรม์ที่มีเงินทุนต่างชาติไหลออกสูงกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าครั้งวิกฤตซับไพรม์ เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในจุดย่ำแย่ เกิดความตระหนกในการโยกเงินออกจากตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เชื่อว่าการประกาศทยอยลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปรับตัวในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเท่านั้น
นายโฆสิต เชื่อว่า ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกจะยังคงต่อเนื่องไปอีกสักระยะหนึ่งจากที่ผันผวนมาแล้ว 5 ปี โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องการที่ธนาคารกลางจีนดำเนินนโยบายลดความร้อนแรงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจลง ซึ่งจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลก
“เห็นได้ชัดจากการที่ตลาดการเงินของจีนมีความผันผวน โดยอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระหว่างธนาคาร หรืออินเตอร์แบงก์เรต ปรับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนักลงทุนต้องจับตาปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมด”
นายโฆสิต ย้ำว่า การดำเนินนโยบาย และการดำเนินธุรกิจต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากความผันผวนเกิดขึ้นได้ตลอด และรวดเร็ว เช่น อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ จากที่อยู่ในระดับร้อยละ 2.1 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.4 สะท้อนถึงความผันผวนที่ยังคงมีต่อเนื่อง และจะต่อไปอีก
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การปรับนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ ครั้งนี้นับเป็นการส่งสัญาณเตือนให้ตลาดรับรู้ว่าในช่วง 1 ปีนับจากนี้ไปจะยังคงมีความผันผวนต่อเนื่องไปอีก แต่ในทางกลับกันเป็นการสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจทั้งโลกไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน แต่ที่ผ่านมา นักลงทุนระมัดระวัง และทางการดูแลอยู่แล้ว อีกทั้งสภาพคล่องในประเทศมีปริมาณสูง เพียงพอที่จะรองรับการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกไปได้ ส่วนปัจจัยการเมืองจะยังไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้