“ธีระชัย” เผย “มูดี้ส์” ประเมินขาดทุนจำนำข้าวไว้ 2 แสนล้านบาท ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 2 พร้อมระบุการที่คณะกรรมการปิดบัญชีต้องเจาะลึกลงไปในประเด็น “มูลค่าด้วยราคาทุน หรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ” เพราะมองแล้วยังไม่ยึดหลักตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อช่วงเย็นวันนี้ โดยระบุว่า มาตรฐานการบัญชีในการตีราคาสต๊อกของไทยนั้น คือ มาตรฐานฉบับที่ 2 ปรับปรุงครั้งล่าสุดปี 2552 กำหนดไว้ว่า “สินค้าคงเหลือต้องวัดมูลค่าด้วยราคาทุน หรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ แล้วแต่มูลค่าใดจะต่ำกว่า”
กรณีนี้ เนื่องจากต้นทุนที่รัฐบาลได้ข้าวมาสูงกว่าราคาตลาด ณ วันปิดบัญชี จึงไม่สามารถตีราคาข้าวในสต๊อกตามราคาต้นทุนของรัฐบาลได้ จะต้องใช้ “มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ” ซึ่งต่ำกว่าเท่านั้น การที่คณะกรรมการปิดบัญชีตีราคาสต๊อกตามราคาตลาด ณ วันปิดบัญชี โดยตั้งสมมติฐานว่า รัฐบาลสามารถขายข้าวทั้งหมดออกไปได้ ณ วันปิดบัญชี เบื้องต้น จึงดูเหมือนว่าวิธีการของคณะกรรมการน่าจะถูกต้อง
แต่ถ้าเจาะลึกเข้าไปในมาตรฐาน จะเห็นว่าคณะกรรมการยังไม่ยึดหลักตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัดนะครับ
มาตรฐานกำหนดไว้ว่า “ต้นทุนของสินค้าคงเหลืออาจจะไม่ได้รับคืนหากประมาณการต้นทุนในการทําต่อให้เสร็จ หรือประมาณการต้นทุนที่เกิดขึ้นเพื่อทําให้สินค้าขายได้เพิ่มขึ้น การตีราคาสินค้าคงเหลือลดลงจากราคาทุนให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ”
อ่านแบบชาวบ้าน ก็คือ (ก) ข้อสมมติว่ารัฐบาลจะขายข้าวได้ทั้งหมดทันทีในวันปิดบัญชี โดยสามารถขายได้ในราคาตลาดทุกตันที่อยู่ในสต๊อกนั้นไม่น่าเป็นไปได้ แต่การขายจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ทำให้เกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จนกว่าจะขายออกไปได้หมดจริงๆ (ข) ถ้าหากในการขายข้าวล็อตนี้ในอนาคตเกิดมีค่าใช้จ่ายขึ้นมา ก็ต้องประเมินเอาค่าใช้จ่ายดังกล่าวลบออกมาจากราคาตลาดเสียก่อนจึงจะได้ตัวเลขเป็น “มูลค่าสุทธิ”
คำว่าสุทธิในที่นี้ก็คือ ต้องหักค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นภายหลังวันปิดบัญชีออกไปเสียก่อนนั่นเอง
สรุปว่า หลักคิดที่อ้างว่าเป็นของมูดี้ส์ที่ประเมินขาดทุนประจำปีไว้ 2 แสนล้านบาทนั้นถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 2 มากกว่าครับ