นักวิชาการด้านสถิติชี้ผลออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่เที่ยงตรง เผยยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ 40 งวด มีการออกเลขเบิ้ลถึง 8 ครั้ง และเลขที่ออกตรงกับเลขทะเบียน “รถนายกฯ” จำนวนถึง 7 ครั้ง แถมเป็นการออกติดๆ กันถึง 3 ครั้ง คงไม่น่าจะบังเอิญได้มากขนาดนี้ แนะเพิ่มการตรวจสอบเพื่อลดความกังวล และสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้แก่ประชาชน ด้านกองสลากฯ โต้ผลสถิติที่ออกมาคงฟันธงไม่ได้ว่ามีการล็อกเลขจริง เพราะต้องใช้เงินมหาศาลในการปิดปาก
ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “หวยล็อก : ข้อเท็จจริงทางวิชาการและทางออกสำหรับสังคมไทย” โดยมีนายธีระพร วีระถาวร อาจารย์จากภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวราฤทธิ์ พานิชกิจโกศลกุล อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายคงเดช หุ่นผดุงรัตน์ ผู้ออกแบบและประดิษฐ์เครื่องออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล นายทวีป วุฒิบาทุกาจิตต์ หัวหน้ากองการตลาด กองสลากกินแบ่งรัฐบาล และนายพงศ์ธง จันทร์รัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน
นายธีระพร กล่าวว่า จากผลการศึกษาสถิติการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า มีการล็อกเลขอย่างเห็นได้ชัดเจนจากหลักฐาน 2 ครั้ง และได้มีการจับกุมผู้กระทำผิดไปแล้ว คือ งวดที่ 1 กันยายน 2530 กรณีที่มีการใช้รีโมตคอนโทรลล็อกวงล้อเหล็ก และงวดที่ 1 มิถุนายน 2544 มีการพ่นสารเคมีบางชนิดลงในภาชนะที่ใช้ในการออกสลาก ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้สังคมยังคงมีความกังวล และยังเชื่อมั่นเสมอว่าทุกครั้งที่มีการออกสลากอาจจะมีการล็อกเลขด้วยวิธีต่างๆ ได้
ทั้งนี้ ในส่วนนี้ไม่สามารถกล่าวหาได้หากไม่มีหลักฐาน แต่จากการศึกษา และวิเคราะห์สถิติการออกสลากด้วยวิธีการทดสอบไคกำลังสอง ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบของความถี่ โดยการวิเคราะห์สลากจะวิเคราะห์การออกสลากรางวัลที่ 1 รางวัล เลขท้าย 3 ตัว และรางวัลเลขท้าย 2 ตัว แบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา
“ช่วงเวลาแรก จากงวดวันที่ 16 มิถุนายน 2545 ซึ่งเป็นงวดแรกที่เปลี่ยนมาใช้เครื่องออกรางวัลลาดกระบัง 6 จนถึงงวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 รวม 257 งวด ช่วงเวลาที่ 2 คือ ตั้งแต่งวดของช่วงรัฐบาลก่อนรัฐบาลปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่งวดวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ถึงงวดวันที่ 16 มิถุนายน 2545 ทั้งหมด 60 งวด ช่วงเวลาที่ 3 คือ งวดของรัฐบาลปัจจุบันเริ่มจากงวดวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ถึงงวดวันที่ 16 มิถุนายน 2556 รวม 40 งวด พบว่า แต่ละช่วงของการตรวจสอบการออกรางวัล โดยเฉพาะรางวัลสำคัญมีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่า การออกรางวันที่ 1 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีความไม่เที่ยงตรงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่หลักร้อย และหลักหน่วย ซึ่งสามารถเชื่อมั่นการวิเคราะห์ได้ถึง 95% และรางวัลเลขท้าย 2 ตัว ไม่เที่ยงตรงที่หลัก 10 และยังมีนัยสำคัญจากส่วนที่เกี่ยวพันกับหวยใต้ดินที่เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกันที่หลักต้นของรางวัลที่สำคัญด้วย”
นายธีระพร กล่าวอีกว่า เมื่อตรวจสอบเฉพาะช่วงของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งก็มักจะเกิดปัญหาที่รางวัลสำคัญ และหากใช้จำนวนงวดของการออกรางวัลจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ จำนวน 60 งวด หรือประมาณ 2 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้เครื่องลาดกระบัง 6 พบว่าการออกรางวัลที่ 1 มีความไม่เที่ยงตรง โดยเฉพาะหลักหมื่น และหลักหน่วย ที่พบว่ามีการออกเลขระดับต้นๆ มากที่สุด เช่น เลข 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งวิเคราะห์ด้วยวิธีการทดสอบไคกำลังสอง พบว่าค่าเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
“นอกจากนี้ กรณีการออกเลขเหมือนกันของรางวัลที่ 1 และเลขท้าย 2 ตัวมีเลขเหมือนกัน เช่น งวดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ออกรางวัลที่ 1 คือ 565566 และเลขท้าย 2 ตัว คือ 66 มีความน่าสนใจว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อมาตรวจวิเคราะห์ทั้ง 257 งวด หรือในรอบ 10 กว่าปี พบว่าการออกเลขซ้ำเคยเกิดขึ้นแล้ว 1 ครั้ง งวดวันที่ 1 ตุลาคม 2547 รางวัลที่ 1 คือ 110866 และเลขท้าย 2 ตัวคือ 66 ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ต้องใช้เวลา 417 ปี จึงจะเกิดได้ 1 ครั้งที่มีเลขตรงกัน แต่จากการออกเลขเพียง 257 งวด หรือ 10 ปีกว่าๆ มีเลขที่ออกตรงกันถึง 2 ครั้งแล้ว และยังพบว่า เลขเบิ้ลเฉพาะช่วงรัฐบาลนี้ที่มีการออกสลาก 40 งวด มีการออกเลขรางวัลเลขท้าย 2 ตัวบนของรางวัลที่ 1 เป็นเลขเบิ้ลถึง 8 ครั้ง นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเลขท้าย 2 ตัวที่ไม่เคยออกรางวัลเลยในรอบ 250 งวด หรือ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เช่นเลข 04, 16, 19, 39, 40, 74, 82, 84 และ 89”
นายธีระพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าน่าสนใจในการออกสลากที่ตรงกับเลขทะเบียนรถของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบว่ามีการออกตรงถึง 7 งวด ซึ่งเป็นการออกติดๆ กันถึง 3 ครั้ง จึงคิดว่าตัวเลขที่มีการออกสลากไม่น่าจะมีความบังเอิญมากขนาดนี้ หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 17% ดังนั้น การออกรางวัลมีความเที่ยงตรงจริงจะต้องมีการออกเลขเฉลี่ยแล้วเท่าๆ กัน จึงเสนอว่า กองสลากกินแบ่งรัฐบาลควรจะมีระบบการตรวจสอบการออกรางวัลอย่างต่อเนื่อง และควรจะมีการศึกษาการออกรางวัลในเชิงสถิติด้วย เพราะการทำอะไรซ้ำๆ บ่อยๆ อาจจะมีผู้ไม่หวังดี คิดเทคนิคในการล็อกเลขได้ จึงคิดว่าการตรวจสอบบ่อยๆ จะลดความกังวล และสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้แก่ประชาชนได้
นายทวีป หัวหน้ากองการตลาด กองสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า การออกรางวัลของกองสลากที่ผ่านมา เรามีระบบการตรวจสอบหลายขั้นตอน และเข้มงวดอยู่แล้ว และระบบการออกรางวัลยังใช้คนจำนวนมากในการหมุนเลขแต่ละครั้ง และมีการถ่ายทอดสด ดังนั้น หากจะมีการล็อกเลขได้จริงจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการปิดปากพนักงานออกสลาก ซึ่งตนมองว่า กระบวนการออกสลากของประเทศไทยมีความละเอียดรอบคอบมาก และใช้เวลาแต่ละครั้งมากกว่าต่างประเทศที่มีการออกรางวัลต่างๆ จึงคิดว่า สถิติต่างๆ ที่มีการศึกษาก็เป็นส่วนดีที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาระบบการออกสลากให้มีความเที่ยงตรง และยุติธรรมที่สุดได้ แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าจากผลสถิติที่ออกมาจะเกิดจากการล็อกเลข ซึ่งก็ทำได้ยากมาก
“ต้องบอกว่าในสังคมไทยยังเป็นสังคม และวัฒนธรรมแห่งความเชื่อ ตราบใดที่ยังมีความเชื่อในเรื่องของเลขเด็ด ก็ยังคงมีคนเชื่อในเรื่องของการล็อกเลข แต่ผมมองว่าการมีเลขเด็ด ก็เป็นการตลาดที่ทำให้คนที่มีความเชื่อ อย่างที่จะซื้อหวยเพราะคิดว่าเป็นเลขล็อกต้องถูกรางวัลแน่นนอน ทำให้เรื่องของการล็อกเลขยังมีในความคิดของคนไทยอยู่ ดังนั้น กองสลากก็คงต้องสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความยุติธรรม ซึ่งอาจจะเชิญนักวิชาการ และคนนอกกองสลากเข้ามาร่วมในการออกรางวัลแต่ละครั้งเพื่อสร้างความโปร่งใสในการออกรางวัล” นายทวีปกล่าว
ด้านนายคงเดช กล่าวว่า ในฐานะผู้ออกแบบ และประดิษฐ์เครื่องออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า การวิเคราะห์เครื่องออกสลาก หากมองในทางช่างแล้ว ต้องวิเคราะห์ที่เครื่องตัวเดียว และคนหมุนเครื่องคนเดียวกัน แต่ที่ผ่านมา การออกรางวัลแต่ละเครื่องมีการสลับเครื่อง และสลับคนหมุนเครื่องลาดกระบัง 6 ทุกครั้งที่มีการออก ดังนั้น จึงคิดว่าการจะวิเคราะห์ผลที่ออกมามีความไม่เที่ยงตรง จึงไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษานี้ แต่ถ้าจะกล่าวโทษเครื่องมืออุปกรณ์ก็ต้องดูที่น้ำหนักของลูกบอล ซึ่งแต่ละครั้งที่มีการออกสลากจะมีการชั่งน้ำหนักทุกครั้ง ไม่มีทางที่จะมีการล็อกเลขได้แน่นอน
ผมขอย้ำว่าการจะบอกว่าการออกรางวัลมีความไม่เที่ยงตรงจากเครื่องอุปกรณ์การออกนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน หากการศึกษานำค่าเฉลี่ยเท่ากันหมดมาวัดกับการออกแต่ละเครื่องที่มีการใช้เครื่องหลายเครื่องในการออกเลขแต่ละหลัก และใช้คนหมุนเครื่องที่แต่ละคนอาจจะมีแรงหมุนต่างกัน จึงตอบไม่ได้ว่า อะไรคือค่าเฉลี่ยที่แน่นอน และอะไรคือความเที่ยงตรง ซึ่งปัจจุบัน การพัฒนาเครื่องออกรางวัลก็มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงเครื่องลาดกระบัง 6 ที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาแล้ว เชื่อว่ามีความโปร่งใสอย่างแน่นอน