xs
xsm
sm
md
lg

เปิดพอร์ต “แกรมมี่” มีหุ้นรอขาย 1,500 ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดพอร์ต “แกรมมี่” ยังมีหุ้นรอขายอีก 1,500 ล้านบาท จากหุ้นใน 3 บริษัท POST, SE-ED และ OFM เพื่อระดมทุนรองรับธุรกิจดิจิตอลทีวี หลังขาย MATI ให้ก๊วนอย่าง “สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” ภาพรวมธุรกิจใหม่แข่งขันสูง ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เชื่อแม้ขายหมดก็ยังไม่อาจฉุดให้ฟื้นจากขาดทุน เหตุต้นทุนค่าเสื่อมเพย์ทีวีสูง

     ในช่วงครึ่งปีหลัง 2556 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดประมูลช่องรายการทีวีดิจิตอล เรื่องดังกล่าวสร้างความตื่นตัวให้แก่ผู้ประกอบการสื่อ และบันเทิงหลายค่ายสนใจเข้าร่วมประมูล เพราะต่างมุ่งหวังจะได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินโฆษณาจำนวนมหาศาล แม้ธุรกิจใหม่จะใช้เงินลงทุนสูงก็ตาม

     “มีการเตรียมความพร้อมด้านเงินลงทุนจำนวนมากไว้ล่วงหน้า ซึ่งหลายบริษัทเลือกใช้วิธีการเพิ่มทุน บางแห่งใช้การกู้จากสถาบันการเงิน หรือหาพันธมิตรเข้าร่วม แต่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) (GRAMMY) กลับเลือกใช้วิธีขายเงินลงทุนทั้งหมดที่ถืออยู่ใน บมจ.มติชน (MATI) ซึ่งมีอยู่จำนวน 41 ล้านหุ้น หรือ 22.12% ในราคาหุ้นละ 11.11 บาท คิดเป็นมูลค่า 455.51 ล้านบาท ออกมา”

       “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่” เคยกล่าวอย่างชัดเจนตลอดมาว่า จากนี้ไปจะรุกธุรกิจทีวีดิจิตอล และทีวีดาวเทียมเต็มรูปแบบ เพราะเป็นสื่อที่มีอนาคต โดยกำหนดเป้าหมายไว้ คือ ช่อง HD 1 ช่อง และช่อง SD อีก 2 ช่อง ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ในการทำทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์

     โดย ช่อง HD วางแผนจะนำเอาช่อง “จีเอ็มเอ็ม วัน” ซึ่งเป็นช่องฟรีทูแอร์ออกอากาศอยู่แล้วมาดำเนินการเพื่อขยายสู่ช่องทางแพลตฟอร์ม ทีวีดิจิตอล เนื่องจากช่องนี้มีความแข็งแกร่งทางด้านคอนเทนต์ ส่วน SD บริษัทมีแผนจะทำช่องแฟมิลี เป็นคอนเซ็ปต์ของครอบครัว ด้วยการจับมือกับพันธมิตรที่มีคอนเทนต์ดังกล่าวร่วมมือกันผลิต และอีกช่องจะเป็นช่องวาไรตี และสถานีข่าว จากมันนี่แชนแนล ช่องแบง และช่องกรีนแชนแนล

    ล่าสุด “ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มงานแพลตฟอร์ม จีเอ็มเอ็ม แซท” ประกาศทุ่มงบประมาณอีก 150 ล้านบาท ในการเปิดตัวกล่องทีวีดาวเทียวเอชดีชื่อ จีเอ็มเอ็ม แซท เอชดี เพราะเล็งเห็นโอกาส และศักยภาพของการทำตลาดกล่องทีวีดาวเทียมระบบความคมชัดสูง (HD) จากปัจจุบันคนไทยส่วนใช้ทีวี HD มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายสิ้นปีนี้จะมียอดขายกล่อง GMM Z HD ประมาณ 1 แสนกล่อง

     “ด้วยเงินลงทุนที่สูง จึงทำให้เกิดความเป็นไปได้ว่า นอกจากหุ้นมติชนแล้ว ยังจะมีกิจการอื่นๆ ที่จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ถือหุ้นอยู่ และอาจจะถูกขายหุ้นทิ้งอีก เพื่อนำเงินมาลงทุนในสื่อนิวมีเดียนี้ เพราะเม็ดเงิน 455 ล้านบาท ยังไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนใหม่ อีกทั้งคู่แข่งในตลาดนี้ก็มีมาก ดังนั้น การสร้างความแข็งแกร่ง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้เม็ดเงินที่สูง”

     หลายฝ่ายประเมินว่า รายการขายหุ้น MATI ครั้งนี้ GRAMMY จะบันทึกเม็ดเงินขายหุ้นเข้ามาในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ แม้ GRAMMY จะไม่ได้กำไรจากการขายหุ้น MATI เพราะราคาที่ขายใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อเมื่อครั้งปี 2548 แต่เงินปันผลตลอด 8 ปีที่ผ่านมากว่า 100 ล้านบาท ถือว่าเป็นกำไรจากการลงทุนที่ดีในระดับหนึ่ง

     อย่างไรก็ตาม GRAMMY ยังมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูง โดยเฉพาะการตัดค่าเสื่อมจากธุรกิจเพย์ทีวีอีกปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท  ทำให้จะต้องประสบกับภาระขาดทุนต่อไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่บริษัทต้องเตรียมเงินเพื่อใช้ในการลงทุนอีกหลายโครงการ ดังนั้น แม้บริษัทจะตัดขายเงินลงทุนใน MATI ดูท่ายังไม่เพียงพอต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้บริหารในเครือฯ ยอมรับว่า อาจต้องตัดขายหุ้นอื่นๆ อีก ...และที่อาจหนีไม่พ้นคือ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง (POST) ในสัดส่วน 23.60% หรือประมาณ 118 ล้านหุ้น
       
เปิดพอร์ต GRAMMY มีอีก 3 บริษัท 1.5 พันล.

     “แต่ความจริงแล้ว GRAMMY ยังมีเข้าไปถือหุ้นในอีก 2 บริษัท ได้แก่ บมจ.ออฟฟิศเมท (OFM) สัดส่วน 3,680,000 หุ้น หรือ 1.15% และ บมจ.ซีเอ็ดยูเคชั่น (SE-ED) จำนวน 45,045,920 หุ้น หรือ 12.64% และเงินในกองทุนเปิดทิสโก้ตราสารหนี้ปันผลอีก 3.197 ล้านบาท”

     ทั้งในรายงานประจำปี 2555 ของ GRAMMY ได้จัดให้การลงทุนใน 3 บริษัทมหาชนที่เหลือ และเงินในกองทุนดังกล่าว เป็นหลักทรัพย์เผื่อขาย หลังจากบริษัทได้ควบรวมกับ บมจ.จีเอ็มเอ็ม มีเดีย (GMMM) โดยได้ทำการไถ่ถอนหุ้น POST ที่ได้จำนำไว้กับธนาคารไว้หมดแล้ว

     อีกทั้งในรายงานประจำปี 2555 ได้ระบุมูลค่ารวมราคาทุนของหลักทรัพย์เผื่อขายดังกล่าว (มติชน ถูกขายออกไปแล้ว) อยู่ที่1,240.980 ล้านบาท (รวมเงินลงทุนในกองทุนเปิดทิสโก้ตราสารหนี้ปันผล 3.197 ล้านบาท) แบ่งเป็น POST จำนวน 972.572 ล้านบาท  OFM จำนวน 40.064 ล้านบาท และ SE-ED จำนวน 225.147ล้านบาท แต่หากนำราคาปิดเมื่อวันที่ 3 พ.ค.มาคำนวณ จะพบว่ามีมูลค่าสูงถึง 1,578.490 ล้านบาท (รวมเงินลงทุนในกองทุนเปิดทิสโก้ตราสารหนี้ปันผล 3.197 ล้านบาท)  แบ่งเป็น POST จำนวน 908.600 ล้านบาท OFM จำนวน 405.413 ล้านบาท และ SE-ED จำนวน 261.280 ล้านบาท

   “นั่นหมายความถึง GRAMMY ยังสามารถระดมเงินทุนเพื่อใช้ในการลงทุนธุรกิจดิจิตอลทีวี โดยไม่ต้องเพิ่มทุน หรือกู้ยืมเงินจากธนาคารเป็นจำนวนมาก เพียงแค่ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ในทั้ง 3 บริษัทออกไป”
     
ย้อนรอย GRAMMY ถือมติชน

         ก่อนหน้านี้ ราคาหุ้นของ MATI และ POST ไม่ได้เพิ่งปรับตัวขึ้นรับข่าวการขายหุ้นที่ถืออยู่โดย GRAMMY แต่เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงกรกฎาคม 2555 จนทำให้ราคาหุ้นทั้ง 2 บริษัท ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง และทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย alert เพื่อจับตาในเรื่องดังกล่าว เพราะช่วงเวลานั้นก็มีข่าวว่า GRAMMY จะขายหุ้นที่ถืออยู่ออกเพื่อระดมทุนในธุรกิจดิจิตอลทีวีเช่นกัน แต่ นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ก็ปฏิเสธมาโดยตลอด เว้นครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นกับหุ้น MATI
       
กูรูเชื่อปี 56 ยังขาดทุนต่อ

     ภาพรวมปีนี้ GRAMMY เชื่อว่าผลประกอบการน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้จะไม่ต่ำกว่าปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท จากการเติบโตในหลายธุรกิจของบริษัท ...แต่ บล.เกียรตินาคิน ประเมินแนวโน้มธุรกิจของแกรมมี่ ว่า เนื่องจากแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/56 ยังขาดทุน แม้ลดลงจากไตรมาส 4/55 โดยประเมินว่าช่อง GMM ONE จะเข้ามาเป็นตัวช่วยบรรเทาผลขาดทุนที่คาดจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจเพย์ทีวี ซึ่งเติบโตได้อย่างเชื่องช้ากว่าที่คาด โดยงวดไตรมาส 1/56 มียอดจำหน่ายกล่องอยู่ที่ 1 แสนกล่องเท่านั้น และยอดสมาชิกยังขยายตัวได้น้อยเมื่อเทียบกับเป้าเฉลี่ยทั้งปีที่คาดไว้ที่ 1.8 แสนราย แม้ได้ตัวช่วยจากภาพยนตร์ “พี่มากพระโขนง” ที่ทำรายได้ได้ดีกว่าคาดไว้แล้วกว่า 500 ล้านบาท ทำให้ระยะสั้น หุ้น GRAMMY จะถูกกดดันจากผลขาดทุนของการลงทุนช่วงแรกของธุรกิจเพย์ทีวี GMM Z จึงยังคงประมาณการปีนี้ของแกรมมี่ไว้เท่าเดิมที่ขาดทุน 115 ล้านบาท

     ด้าน บล.เอเซียพลัส เชื่อว่า ในอนาคตบริษัทน่าจะมีแผนขายหุ้น (POST) ออกมาด้วยเช่นเดียวกัน โดยเชื่อว่าผลประกอบการปี 2556 ของGRAMMY ยังขาดทุนต่อเนื่องจากปี 2555 จากการตัดจำหน่ายค่าสิขสิทธิ์คอนเทนต์ต่างประเทศที่ซื้อมาเพื่อทำธุรกิจเพย์ทีวี รวมถึงค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม และค่าผลิตรายการ ซึ่งรวมแล้วสูงถึงไตรมาสละ 250 ล้านบาท ขณะที่รายได้ธุรกิจเพย์ทีวียังเข้ามาช้ามาก ขณะที่ปี 2557 ยังมีความเสี่ยงจากการตัดจำหน่ายค่าสิขสิทธิ์คอนเทนต์เพย์ทีวีที่เหลืออีก 1,300 ล้านบาท  จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงลงทุน

     ก่อนหน้านี้ อนุกรรมการด้านกระจายเสียงเตรียมเสนอต่อ กสทช. เพื่อขอลดราคาตั้งต้นใหม่ของใบอนุญาตในการให้บริการดิจิตอลทีวี โดยเป็นการปรับลดเฉลี่ย 26% ในทุกประเภทรายการ ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระของผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจดิจิตอลทีวี เนื่องจากเห็นว่าต้องแบกรับภาระในการจ่ายค่าเช่าโครงข่ายเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมหลายฝ่ายมองว่า การแข่งขันในดิจิตอลทีวี จะทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น แม้ GRAMMY จะตัดขายเงินลงทุนในหุ้นบริษัทอื่นออกไป ก็ไม่น่าจะทำให้บริษัทมีผลประกอบการออกมาดี เพราะภาระค่าใช้จ่ายต่อปียังสูง ขณะที่การสร้างรายได้ก็ไม่ทันค่าใช้จ่าย จึงน่าจะทำให้บริษัทประสบปัญหาขาดทุนอีกในปีนี้

     “สิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามต่อจากนี้ คือ การตัดสินใจของผู้บริหาร GRAMMY ว่า จะมีการปล่อยขายหุ้นที่ถืออยู่ในมือทั้ง POST SE-ED และ OFM ออกมาอีกหรือไม่ และจะขายออกมาในช่วงไหน? อีกทั้งต้องติดตามการตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นของ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ จะเกิดขึ้นเพิ่มเติมหรือไม่? หลังจากยอมรับว่ามีการเจรจาการขายหุ้น POST จริง และต้องติดสถานการณ์การต่อต้านด้วยเช่นกัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น