xs
xsm
sm
md
lg

นายแบงก์เปิดวงเสวนา “บาทแข็ง” ผ่าทางตัน “ทุนไหลเข้า” ส่วนเงินในภูมิภาคมีแนวโน้มแข็งค่า 1-3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายแบงก์เปิดวงเสวนา “ทิศทางค่าเงินบาทและแนวโน้มของค่าเงินและการช่วยเหลือของภาครัฐและสถาบันการเงิน” ระดมความคิดเห็นเกี่ยบกับสถานการณ์ค่าเงินบาท มอง 3 ปัจจัยบ่งชี้เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอีก แนะผู้ส่งออก ปรับตัว-ป้องกันความเสี่ยง ส่วนภาครัฐควรดูแลค่าเงินให้สอดคล้องกับภูมิภาค ขณะที่ ส.อ.ท. เสนอ 7 มาตรการช่วยภาคเอกชน สศค.คาดแนวโน้มเงินในภูมิภาคมีแนวโน้มแข็งค่า 1-3 ปี เสนอภาครัฐ เอกชนใช้ประโยชน์จากแนวโน้มเงินบาทแข็งค่า

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสวนทางกับค่าเงินของประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ก่อนที่เงินบาทจะมาเคลื่อนไหวใกล้เคียงคู่แข่งที่ค่าเงินเริ่มแข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนที่ผ่านมา โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแล้ว 6-7% สูงสุดในภูมิภาค และคู่แข่งในภูมิภาคที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้น 1% จึงส่งผลกระทบความสามารถในการแข่งขันผู้ส่งออกลดลง 5-7% เมื่อเทียบกับคู่แข่งในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก เพราะมีเงินไหลเข้ามาลงทุนมากพอสมควร โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดพันธบัตรของนักลงทุนมูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งแรงกดดันเงินบาทครั้งนี้ไม่ได้มาจากการเกินดุลบัญชีชำระเงิน แต่มาจากเงินทุนไหลเข้า โดยมองว่า แนวโน้มเงินบาทยังจะแข็งค่าต่อไป ด้วยปัจจัย 3 ประการ คือ เศรษฐกิจที่ดีของเอเชีย และอาเซียน, สภาพคล่องทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นที่ไหลกลับเข้ามาลงทุน รวมทั้งแรงกดดันจากการเก็งกำไรค่าเงินที่เข้ามาสมทบ

นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ส่งออกจะต้องปรับตัวโดยการทำ Local invoicing, การกำหนด price in ในราคาที่เท่ากัน, ปรับเปลี่ยนตลาดไปยังตลาดที่ไม่ถูกกระทบจากค่าเงิน, การทำ Hedging และลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในขณะที่ ธปท.และรัฐบาลควรดูแลเงินบาทให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไม่ได้ทำให้ทุนสำรองของประเทศเพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงด้วยซ้ำ สะท้อนว่า ธปท.ยังไม่ได้มีการแทรกแซงค่าเงิน หรือหากแทรกแซงก็ยังไม่มากเท่าที่ควร

ขณะที่ นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยสายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี (CIMBT) กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินในปัจจุบันยังไม่รุนแรงถึงที่สุด เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลปัญหาคาบสมุทรเกาหลี หากความขัดแย้งยุติลง เงินจะไหลเข้าเอเชียมากขึ้น และระยะต่อไปนักลงทุนญี่ปุ่นจะนำเงินออกมาลงทุน คาดว่าบางประเทศจะใช้มาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน โดยเฉพาะเกาหลีใต้

ทั้งนี้ หาก ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่จะมีความเสี่ยงให้เกิดภาวะฟองสบู่ โดยคาดการณ์ว่า เงินบาทจะถูกกดดันให้แข็งค่าต่อไป และคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยลง 0.5% ในกรณีที่มีการลดดอกเบี้ย จะมีมาตรการ Prudential Measures ควบคู่ไปด้วยเพื่อป้องกันการเกิดฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ และอาจมีการควบคุมเงินทุนไหลเข้า แต่จะไม่รุนแรงเหมือนปี 2549

นายพิสิทธิ์ พัวพัน ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละครั้งมีความยากลำบาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวต่อการค้าการส่งออกของประเทศ โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 6.6% และหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า ค่าเงินแข็งค่าขึ้นเพียง 2% เท่านั้น

“มองว่าในช่วง 1-3 ปี ข้างหน้า ค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าทั้งภูมิภาค ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนต้องมาวางแผนว่าจะดำเนินการอย่างไรหากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยภาครัฐจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2 ล้านล้านบาท และกระทรวงการคลังประเมินว่าต้องนำเข้าประมาณ 40% ของงบทั้งหมด และจะเร่งให้รัฐวิสาหกิจคืนหนี้ต่างประเทศก็จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มดังกล่าว”

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรใช้โอกาสนี้ในการนำเข้าวัตถุดิบสำคัญตามโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าต้องนำเข้ามาคิดเป็นร้อยละ 40 ของการลงทุนในภาพรวม ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทได้ ขณะเดียวกัน นักลงทุนไทยควรออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่รัฐวิสาหกิจในไทยควรใช้โอกาสนี้ชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ปรับลดสิทธิในการลงทุนของต่างชาติซึ่งเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยจากเดิมที่ให้สิทธิมากกว่าคนไทยให้ได้รับสิทธิเท่าๆ กับคนไทย รวมทั้งมอบหมายให้ธนาคารในกำกับของรัฐ ทั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) รวมถึงธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ในการทำสัญญาซื้อ หรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือ Forward contract เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ส่งออกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี แต่พบว่าที่ผ่านมาการทำ Forward contract ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยธนาคารกรุงไทยทำ Forward contract ให้เอสเอ็มอีได้เพียง 640 ราย วงเงิน 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

ด้านนายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ และรักษาการประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากการเสวนาในวันนี้ ขอเสนอมาตรการ 7 ข้อ ให้แก่ ธปท. โดย 1.ธปท.ควรดูแลเงินบาทไม่ให้มีความผันผวน และให้สอดคล้องกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค 2.กระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานของภาครัฐ ส่งเสริมให้ SME ทำประกันความเสี่ยง เพื่อลดค่าธรรมเนียม รวมถึงให้เข้าถึงแหล่งเงินที่จะเข้าไปทำประกันความเสี่ยงได้

3.ส่งเสริมให้ผู้ส่งออกเปิด LC โดยใช้สกุลเงินบาท เพื่อลดความผันผวน และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 4.ขอให้กระทรวงพาณิชย์ตั้งกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศช่วยเหลือผู้ส่งออกในการขยายตลาดใหม่ๆ 5.ขอให้กระทรวงการคลังตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีปัญหาจากสภาพคล่องเพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ 6.ขอให้ธปท.และกระทรวงคลัง เร่งหามาตรการเข้ามาสกัดกั้นการเก็งกำไรของเงินไหลเข้า โดยการกำหนดมาตรการควรดูให้เหมาะสมอย่าให้กระทบต่อตลาดทุน

7.ขอให้กระทรวงการคลังทบทวนการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในเรื่องของการชดเชยการส่งออกในระยะสั้นนี้ด้วย ทั้งนี้ ภาคเอกชนจะจัดทำข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการเสวนาในวันนี้เสนอต่อ ธปท.เป็นลำดับต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น