“กิตติรัตน์” เล็งตั้งกองทุนบริหารทรัพย์สินประเทศหวังเพิ่มมูลค่า ชี้จะเป็นแนวทางบริหารระบบ ศก.ยั่งยืน และคุ้มค่า ควบคู่การลงทุนระบบคมนาคม 2 ล้านล้าน
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และวางแผนที่จะลงทุนในระบบคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐานประเทศแล้ว จากนี้ไปรัฐบาลจะหันมาดูแลเพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินประเทศ ถือเป็นแนวทางบริหารจัดการเศรษฐกิจให้ยั่งยืนมากขึ้น
“หลายประเทศพัฒนาระบบเศรษฐกิจมาอยู่ในขั้นที่เรียกว่า พัฒนาสูงสุด คือ หาช่องที่จะปรับประสิทธิภาพไม่ออกแล้ว ระบบเศรษฐกิจก็จะไม่ขยายตัว หรือเรียกว่า No Growth ถามว่าไทยจะหมดมุกเร็วไหม ไม่เร็ว เหตุผลคือ เรายังมีทรัพย์สิน และอีก 7 ปี ลงทุนคมนาคมขนส่งให้ดี ระหว่างที่ยุโรป หรือผู้ซื้อรายสำคัญยังไม่เป็นผู้นำส่งออก คุณพึ่งพาการลงทุนในประเทศ พอเขาฟื้นขึ้นมาหันมาอีกทีไทยจะเป็นคู่ค้ารายสำคัญ พัฒนาเศรษฐกิจต่อไปได้อีกหลายทศวรรษ”
การบริหารจัดการ หรือพัฒนาทรัพย์สินของประเทศในเชิงรุก โดยเฉพาะที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ เพื่อให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ทั่วประเทศจำนวนมากก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ยั่งยืน ต้องมีการศึกษาและออกแบบที่ดี การจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อศึกษานั้นเป็นแนวทางที่เป็นแนวคิดของกระทรวงการคลัง
นายกิตติรัตน์ ยกตัวอย่างว่า หากเราต้องการ หรืออยากย้ายคุกงามวงศ์วาน 490 ไร่ เพราะรถไฟสายสีแดงผ่าน ก็ต้องศึกษาออกแบบที่ใหม่ เหมาะสมไหม หน้าตาจะเป็นอย่างไร เมื่อย้ายแล้วประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ หรืออยากชวนกระทรวงกลาโหมให้มีสำนักงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นก็ต้องมีการศึกษา”
นายกิตติรัตน์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาไทยมักสนใจภารกิจประเทศเรื่องเดิมๆ เช่น บริหารงบประมาณ หรือบริหารหนี้สิน ซึ่งรัฐบาลก็แน่ใจว่าจะบริหารจัดการได้อย่างระมัดระวัง แต่เรื่องการบริหารทรัพย์สินไม่ค่อยมีใครพูดถึง
ทั้งนี้ ไทยมีทรัพย์สินมหาศาลที่ยังไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามสมควร ไม่เกิดรายรับที่ดี การบริหารจัดการที่เกิดภาระต้นทุนเกินสมควร จึงเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาล หรือกระทรวงการคลังอีกด้านในการเข้าไปดูแล
นายกิตติรัตน์ ยังได้ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า มีหน่วยงานราชการบางแห่งอยู่ในสถานที่สำคัญของประเทศที่จะนำมาซึ่งรายได้ และธุรกิจท่องเที่ยว โดยพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ ก็จะดึงรายรับเข้าประเทศ หรือสนามบินบางแห่งนำมาพัฒนาให้เหมาะสมด้วยเงินลงทุนเพียงเล็กน้อย ก็ทำประโยชน์ให้ต่อสนามบิน หรือประเทศได้มากกว่านี้
แม้แนวนโยบายดังกล่าวจะถือเป็นภารกิจที่ไม่เกิดผลในทันทีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าเริ่มวันนี้ จะกลายเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจมหาศาล นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานในต่างประเทศ เช่น สถานทูตหลายแห่งต้องจ่ายค่าเช่าในอัตราสูง ถ้าซื้อให้เป็นของรัฐบาล แล้วลดงบประมาณรายจ่ายลง ก็เชื่อมั่นว่าจะเกิดความคุ้มค่าได้อย่างแน่นนอน