รมว.คลัง เชื่อโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ดันจีดีพีโต 7% มั่นใจ ศก.ไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง ชี้เป็นกลไกสำคัญในการขจัดความด้อยประสิทธิภาพของประเทศ โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่ง และการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง ซึ่งจะทำให้เกิดกำลังซื้อในประเทศมากขึ้น พร้อมโต้ทำหนี้สารธารณะท่วม เพราะยังอยู่ในกรอบ 42% ของจีดีพี “บิ๊กแสนสิริ” ยันไม่มีฟองสบู่อสังหาฯ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2556 และการเตรียมตัวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ในงานสัมมนา “CEO ECONOMIC OUTLOOK 2013 เหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจไทยปี’56 กับ 6 เซียนธุรกิจ” โดยระบุว่า การที่รัฐบาลมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะเป็นส่วนหนึ่งในการขจัดความด้อยประสิทธิภาพของประเทศ โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ
ทั้งนี้ มั่นใจว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ร่วมกับการปรับปรุงการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง ซึ่งจะทำให้เกิดกำลังซื้อในประเทศมากขึ้น และจะต้องรักษาเสถียรภาพของปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินค้าสำคัญที่เป็นปัจจัยการผลิตไม่ให้ผันผวนรุนแรง
โดยในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลลดการขาดดุลงบประมาณมาอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท ซึ่งจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ร้อยละ 3 และคาดว่าทั้งปีมูลค่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นหนี้สาธารณะ 5 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 42 ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยทางการเงินการคลัง
ด้านนายอภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า ยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการเติบโตของภาคอสังหาฯ ยังเติบโตในทิศทางเดียวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 6 เพราะอานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ที่จะทำให้กระจายตัวไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ปีนี้จะปรับตัวสูงขึ้นเพียงร้อยละ 2-5 จากต้นทุนวัตถุดิบ และค่าแรงที่สูงขึ้นมากกว่าการเก็งกำไร
ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัทแสนสิริ ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 48,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 42,000 ล้านบาท โดยจะมีการเปิดโครงการใหม่จำนวน 45 โครงการ ซึ่งร้อยละ 30 ของโครงการทั้งหมดจะเป็นโครงการที่เปิดตัวในต่างจังหวัด
นอกจากนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังยืนยันไม่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท เพราะส่วนใหญ่ขายในประเทศ ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์มีน้อยมาก เพราะวัสดุส่วนใหญ่มาจากในประเทศกว่าร้อยละ 90