ธปท. ชี้ “บีโอเจ” คลอดมาตรการ “คิวอี” กระตุ้น ศก. เหนือความคาดหมายของตลาด และเป็นการใช้ยาแรงกว่าที่คาดเอาไว้ เพราะฐานเงินญี่ปุ่นจะเพิ่ม 2 เท่าภายใน 2 ปี ส่งผลให้ “เยน” อ่อนค่าลงทันที 20% ยันไม่กระทบไทย เพราะไม่ใช่คู่แข่งส่งออก พร้อมแนะผู้ประกอบการฉวยโอกาสนำเข้าเครื่องจักรในราคาต่ำ
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่รับปากว่าจะอัดฉีดเงินเข้าระบบ (QE) อีก 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ พร้อมกับคาดหมายว่าฐานเงินญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในเวลา 2 ปีนั้น ถือเป็นมาตรการที่เกินความคาดหมายของ ธปท. ซึ่งหลังจากญี่ปุ่นประกาศมาตรการดังกล่าวออกมา มีผลทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงทันที
ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาเหนือความคาดหมายนั้น ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด เพราะเท่าที่ ธปท. จับตาดู ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นคู่แข่งทางด้านการส่งออกกับประเทศไทย โดยสินค้าส่งออกของเราส่วนใหญ่คือ อาหาร และสินค้าที่จำเป็น
ดังนั้น ถ้าญี่ปุ่นสามารถปรับตัวดีขึ้นได้จริงอย่างที่คาดการณ์ไว้ ถือเป็นจังหวะดีที่เราจะได้รับจากญี่ปุ่น เช่น การนำเข้าเครื่องจักรที่ทันสมัยในราคาที่ถูกลงอย่างมาก ซึ่งก็อยู่ที่ผู้ประกอบการว่าจะหยิบฉวย และคว้าโอกาสดีๆ แบบนี้ได้เร็วแค่ไหน
“ตอนนี้ค่าเงินเยนเขาก็ถูกลงไปกว่า 20% แล้วเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ทำให้การนำเข้าของเราถูกลงมาก จึงเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจไทยควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”
สำหรับมาตรการที่ BOJ ออกมา เป็นมาตรการที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว โดยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ พร้อมทั้งบรรดานักกำหนดนโยบายของ BOJ ได้ข้อสรุปในการตั้งเป้าตัวเลขเงินเฟ้อใหม่เป็น 2%
นอกจากนี้ ยังประกาศแผนที่จะปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด ด้วยการทุ่มงบซื้อสินทรัพย์อีก 10 ล้านล้านเยน หรือราว 3.3 ล้านล้านบาทไปจนถึงปีหน้า รวมถึงจะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินใหม่ โดยจะคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินไว้ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด