เฟรเกรนท์ กรุ๊ป สบช่องสัญชาติพม่า ลุยขอสัมปทานโครงการอสังหาฯ ขนาดใหญ่ 2 แห่ง มูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท จากรัฐบาล เผยกลุ่มห้างสรรพสินค้า โรงแรมสนซื้อต่อหลังสร้างเสร็จ
เศรษฐกิจประเทศพม่านับวันเติบโต และร้อนแรงขึ้นทุกขณะนับจากเปิดประเทศ เนื่องจากพม่ามีทรัพยากรทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ก๊าซ แร่ การท่องเที่ยว ฯลฯ อีกทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้พม่ากลายเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจด้านการลงทุนมากยิ่งขึ้นไปอีก และการที่พม่าเติบโตในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อาคารสำนักงานมีไม่เพียงพอจนถึงขั้นขาดแคลน
ล่าสุด บริษัท เฟรเกรนท์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบผสมผสาน หรือมิกซ์ยูส ในประเทศพม่า โดยนายเจมส์ ดูอัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเกรนท์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้อาศัยความได้เปรียบในการเป็นคนสัญชาติพม่าเข้าลงทุนในประเทศพม่า ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลเปิดโอกาสให้คนสัญชาติพม่าเข้าไปลงทุน และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าโดยจะได้รับการยกเว้นภาษี
ทั้งนี้ บริษัทเปิดบริษัทลูกชื่อ บริษัท เมียนม่า เฟรเกรนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอสัมปทานที่ดิน 2 แปลง เพื่อพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบมิกซ์ยูส ประกอบด้วย อาคารสำนักงานให้เช่า โรงแรม ห้างสรรสินค้า และคอนโดมิเนียม ที่มีขนาดห้องกว่า 100 ตร.ม.ขึ้นไป จากรัฐบาลทหาร
สำหรับ 2 โครงการดังกล่าว ได้แก่ โครงการแรกจะตั้งอยู่ทำเลใกล้พระมหาเจดีย์ชเวดากอง เนื้อที่ 20 ไร่ มูลค่าโครงการกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท ภายในนอกจากประกอบด้วยสำนักงานให้เช่า ห้างสรรสินค้า โรงแรม และคอนโดมิเนียมแล้ว ยังมีท่าเทียบเรือยอชต์ และถนนคนเดิน เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กของกรุงย่างกุ้ง โครงการที่ 2 “ไฟแนนซ์เชียล ซิตี้” ภายในจะประกอบด้วย โรงแรม อาคารสำนักงานด้านการเงิน คอนโดมิเนียมและโรงแรม ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 25 ไร่ มูลค่าโครงการ 300 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 9,000 ล้านบาท
สำหรับรูปแบบการลงทุนดังกล่าวจะมี 3 รูปแบบ คือ 1.สัญญาขายขาด 2.ร่วมทุนกับรัฐบาล และ 3. เช่านาน 70 ปี ซึ่งคาดว่าการขายขาดจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดบริษัทลูกขึ้นมา 2 แห่ง เพื่อพัฒนาบริษัทละ 1 โครงการ
“ตอนนี้ทั้ง 2 โครงการได้ผ่านการพิจารณาของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบแล้ว ขั้นต่อไปจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคาดว่าโครงการที่ 2 จะได้รับการพิจารณาก่อน เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อยราย ต่างจากโครงการที่ 1 ที่จะต้องย้ายถนน สะพานข้ามแยก ปรับเป็นถนนคนเดิน และสร้างถนนให้ใหม่จึงคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการขออนุญาต และพัฒนานานพอสมควร โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในปีนี้ 1 โครงการ” นายเจมส์กล่าว
ด้านเม็ดเงินลงทุนนั้น จะระดมเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยการเข้ากระจายหุ้นในช่วงปลายปีนี้ อีกส่วนจะเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินของไทย ที่ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่นักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะทำให้ได้รับดอกเบี้ยถูกลงเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินในพม่าที่คิดดอกเบี้ยสูงถึง 15% ต่อปี
ที่ผ่านมา บริษัทได้นำทั้ง 2 โครงการเสนอให้แก่นักลงทุนทั้งชาวไทย และต่างชาติเพื่อให้มาร่วมลงทุน ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยขณะนี้มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของไทย 1 รายพร้อมที่จะซื้อโครงการต่อหากการก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมไปถึงเจ้าของธุรกิจโรงแรมจากสิงคโปร์
นายเจมส์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาฯ ในพม่าร้อนแรงมาก ราคาที่ดินขึ้นหลายเท่าตัว จนรัฐบาลเกรงว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ จึงป้องกันด้วยการขึ้นภาษีอสังหาฯ โดยภาษีธุรกิจเฉพาะปรับขึ้นจาก 15% มาเป็น 30% ส่วนค่าจดจำนอง 7%
ด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคในพม่านั้นจะนิยมอยู่คอนโดมิเนียม โดยจะเลือกเป็นอันดับแรกก่อนบ้านเดี่ยว ต่างจากเมืองไทยที่เลือกบ้านเดี่ยวมากกว่า นอกจากนี้ ยังนิยมห้องชุดขนาดใหญ่ตั้งแต่ 2 ห้องนอนขึ้นไป หรือประมาณ 100 ตร.ม.ขึ้นไป เนื่องจากเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงๆ