xs
xsm
sm
md
lg

“ออมสิน” ยันปล่อยกู้รัฐความเสี่ยงเท่ากับศูนย์ “วรวิทย์” ปัดตอบแผนควบ “เอสเอ็มอี-ไอแบงก์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี
ผอ.ออมสิน ยืนยันปล่อยกู้รัฐมีความเสี่ยงเท่ากับศูนย์ เพราะกระทรวงการคลังค้ำประกัน 100% แต่เลี่ยงตอบควบ “เอสเอ็มอีแบงก์-ไอแบงก์” ย้ำหากทั้ง 2 แบงก์ช็อต ต้องการใช้สภาพคล่องแบบกะทันหันก็สามารถกู้ผ่านระบบอินเตอร์แบงก์ระหว่างแบงก์รัฐได้ การปล่อยสินเชื่อ หรือเงินกู้ให้กับหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลเกือบ 100% เป็นการกู้โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันอยู่แล้ว ดังนั้น ความเสี่ยงจึงกล่าวได้ว่า เท่ากับศูนย์ แย้มชมรมแบงก์รัฐได้ ปธ.-เลขาฯ เม.ย.นี้

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวว่า ธนาคารออมสินอาจจะต้องควบรวมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) หรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ตามนโยบายของรัฐบาลว่า ที่ผ่านมาธนาคารออมสินก็ถือเป็นแหล่งเงินทุนของรัฐบาลอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้ของกระทรวงการคลัง โดยมียอดเงินกู้ที่ปล่อยให้กับรัฐบาลประมาณ 3.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของสินเชื่อรวมของธนาคารออมสิน

สำหรับกรณีของเอสเอ็มอีแบงก์ และไอแบงก์ ตามปกติก็จะมีการให้กู้ผ่านระบบอินเตอร์แบงก์ หรือการกู้ระหว่างธนาคารด้วยกันอยู่แล้ว แต่ก็มีสัดส่วน หรือปริมาณไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 2 ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีความต้องการใช้สภาพคล่องก็สามารถกู้ผ่านระบบดังกล่าวได้อยู่แล้ว ที่สำคัญคือ การปล่อยสินเชื่อ หรือเงินกู้ให้แก่หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลเกือบ 100% เป็นการกู้โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันอยู่แล้ว ดังนั้น ความเสี่ยงจึงกล่าวได้ว่าเท่ากับศูนย์

“เรื่องการควบรวมยังไม่มีสัญญาณอย่างชัดเจนจากกระทรวงการคลัง จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดหรือไม่อย่างไรในขณะนี้ แต่ยืนยันได้ว่า ในฐานะแหล่งเงินทุนของรัฐบาล และการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วยกัน มีการให้สินเชื่อ หรือสภาพคล่องระหว่างกันอยู่แล้ว โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้วงเงินจำกัดที่สามารถบริหารความเสี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคุณภาพสินเชื่อของธนาคารออมสินได้”

ส่วนความคืบหน้าของการจัดตั้งสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ นายวรวิทย์ กล่าวว่า ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งอาจจะมีการลงนามร่วมกันในเบื้องต้นในเดือนเมษายน 2556 โดยรูปแบบจะคล้ายกับสมาคมธนาคารไทย คือ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ให้ความรู้ อบรมบุคลากรในทางวิชาการ รวมทั้งเป็นแหล่งเงินทุนระหว่างกันด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น