รมว.คลัง โชว์ฟอร์มเหนือชั้นแก้เผือกร้อน “จำนำข้าว” ลั่นไม่ปรับลดราคาจำนำเหลือนตันละ 1.3 หมื่นบาท เพราะต้องเคารพ “รมว.พาณิชย์” ที่ได้ชี้แจงไปแล้ว ส่วนการคืนเงินให้ ธ.ก.ส. ยืนยันไม่มีปัญหา
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการปาฐกถาพิเศษ “การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศ” กรณีมีข่าวว่า คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จะลดราคารับจำนำข้าวจาก 15,000 บาทต่อตัน เหลือ 13,000 บาทต่อตัน โดยระบุว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ปฏิเสธแล้วว่าไม่เป็นความจริง ดังนั้น ตนจึงไม่ขอพูดเพิ่มเติมอีก ส่วนการคืนเงินจำนำข้าวให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 40,000 ล้านบาท ยืนยันไม่มีปัญหา และจะดำเนินการตามกรอบเวลาต่อไป
“คงไม่ขอตอบเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ทั้งกรณีที่รัฐบาลจะลดราคาจำนำข้าวเหลือ 1.3 หมื่นบาทต่อตัน จาก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน และกรณีที่ ธ.ก.ส. มีปัญหาสภาพคล่องใช้รับจำนำข้าว เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวไม่ได้ทำให้ไม่มีเงินมาใช้คืน เพราะเรื่องดังกล่าว รมว.พาณิชย์ ได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่ากระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ดังนั้น จึงต้องเคารพต่อการชี้แจงของผู้ที่รับผิดชอบ”
ส่วนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศ นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า รัฐบาลพยายามจะหาแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนปี 2540
ทั้งนี้ รัฐบาลได้เพิ่มขีดความสามารถของประเทศด้วยการอนุมัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ระยะเวลาในการเตรียมการลงทุนกว่า 7 ปี หรือแล้วเสร็จในปี 2563 เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว
ขณะที่ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มองว่า การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของรัฐบาล และภาคสังคมที่ต้องร่วมมือกัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ให้ใช้ชีวิตแบบพอประมาณ แต่หากจะต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้
ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงควรจะดำเนินการ แต่จะต้องคำนึงถึงความพอดี ความเหมาะสมในการลงทุน ไม่มีหนี้มากจนเกินไป เช่นเดียวกับการเปิดเสรีทางการค้าจะต้องมีความเหมาะสม โดยประเทศไทยต้องได้ประโยชน์ และไม่ทำให้ระบบการค้าของโลกมีปัญหา