“ช.ทวี ดอลลาเซียน” ยื่นไฟลิ่งเตรียมขายไอพีโอ 200 ล้านหุ้น หวังเข้าระดมทุนในตลาด
mai ภายในไตรมาส 2 ของปี 56 นำเงินที่ได้ไปใช้ลงทุนในการวิจัย และพัฒนาระบบออโตเมชันเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ งานนี้ได้มือดี “แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ หรือ APM” เป็นพี่เลี้ยง
นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) หรือ CHO เปิดเผยว่า ได้ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชน และแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ของบริษัทฯ ดังกล่าว ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) แล้วเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา โดยขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชน (ไอพีโอ) จำนวนรวม 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท คิดเป็นร้อยละ 27.78 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วของบริษัทหลังการเสนอขายครั้งนี้
โดยวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนาระบบออโตเมชันเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ จากนั้นจะดำเนินการนำหุ้นสามัญทั้งหมดเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) คาดว่าภายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556
ทั้งนี้ บมจ.ช.ทวี ดอลลาเซียน ประกอบธุรกิจเป็นผู้ออกแบบ สร้างสรรค์ ผลิตตัวถังและติดตั้งระบบวิศวกรรมที่เกี่ยวกับยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ รวมทั้งเป็นผู้ผสานเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบราง ลอจิสติกส์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในระดับโลก เข้ากับการจัดการอย่างมืออาชีพ ทั้งนี้ ได้แบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ และบริการออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์มาตรฐาน หมายถึงกลุ่มรถบรรทุก รถพ่วง-กึ่งพ่วงทั่วไป ที่ลูกค้าสั่งซื้อเพื่อนำไปใช้ขนส่งสินค้าตามความต้องการเฉพาะ มีทั้งรถที่ใช้เพื่อการบรรทุกสินค้าอย่างเดียวโดยไม่ต้องการระบบวิศวกรรมที่มีเทคโนโลยีซับซ้อน 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ออกแบบพิเศษ หมายถึง กลุ่มรถบรรทุก รถพ่วง-กึ่งพ่วง ที่ต้องมีการออกแบบพิเศษตามความต้องการใช้งานของลูกค้า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่สลับซับซ้อน ต้องการระบบวิศวกรรมที่แม่นยำในการใช้งาน เช่น รถลำเลียงอาหารสำหรับเครื่องบิน รถบันไดขึ้นเครื่องบิน รถบันไดกู้ภัย รถติดตั้งอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้นดิน รถดับเพลิง และรถกู้ภัย ยานยนต์สำหรับกองทัพ งานซ่อมบำรุงและปรับปรุงรถไฟ เป็นต้น และ 3.กลุ่มบริหารโครงการ และงานบริการ หมายถึง กลุ่มงานพิเศษที่บริษัทฯ ได้ผสานเทคโนยีด้านวิศวกรรมระดับสากลเข้ากับการบริหารอย่างมืออาชีพด้วยประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของผู้บริหาร และทีมงาน ทั้งด้านงานวิศวกรรม และด้านการบริหารที่สั่งสมมานาน จนสามารถเสนอบริการด้านการบริหารโครงการขนาดใหญ่ให้แก่ลูกค้าได้
ปัจจุบัน มีการให้บริการ 2 โครงการคือ บริหารโครงการสร้างเรือตรวจการร์ไกลฝั่ง และโครงการบริการงานซ่อมบำรุงและศูนย์ซ่อมสำหรับบริษัท ลินฟอกซ์ ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco-Lotus
สำหรับผลการดำเนินงานของ CHO ทั้งรายได้และกำไรสุทธิในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2552-2554 มีรายได้ 955.69 ล้านบาท 666.30 ล้านบาท และ 669.35 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในปี 2552 มีกำไรเบ็ดเสร็จรวม (เฉพาะส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่) เท่ากับ 13.20 ล้านบาท ในปี 2553 มีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม 4.13 ล้านบาท แต่ในปี 2554 กลับมามีกำไรเบ็ดเสร็จรวม 24.01 ล้านบาท สำหรับงวด 9 เดือนของปี 2555 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 467.41 ล้านบาท มีกำไรเบ็ดเสร็จรวม (เฉพาะส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่) เท่ากับ 19.16 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2555 บริษัทมีมูลค่าโครงการคงเหลือที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) จำนวน 146.69 ล้านบาท
นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ช.ทวี ดอลลาเซียน เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานทำให้บริษัทฯ มีศักยภาพในการแข่งขันในระดับโลก อีกทั้งมีความโดดเด่นที่แตกต่างอย่างเหนือกว่า ทั้งในด้านการผลิตตู้สินค้าทุกชนิด ผลิตภายใต้เครื่องจักรทันสมัยได้มาตรฐานสากลทั้ง มอก. ISO 9001, CE mark, IATA ที่สำคัญคือ CHO ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากพันธมิตรระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม เช่น BAE SYSTEMS ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อันดับ 2 ของโลก, SEIMENS ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบ และผลิตตู้รถโดยสาร ระบบการขนส่งทางรางระดับโลก จากเยอรมนีนี, HANAOKA ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบผลิตภัณฑ์รถบริการในสนามบินจากญี่ปุ่น และ MORITA ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการขนส่งจากญี่ปุ่น ซึ่งจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและความโดดเด่นของธุรกิจที่มีของ CHO ทำให้เชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน
“ช.ทวีฯ มีเป้าหมายในการเป็นผู้นำในการออกแบบ สร้างสรรค์ ผลิต และเป็นผู้ผสานเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมระดับโลกเข้ากับการจัดการอย่างมืออาชีพ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ โดยจะเป็นผู้ร่วมสร้าง และเพิ่มอำนาจการแข่งขันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีระบบราง ลอจิสติกส์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” นายสุรเดช กล่าวในที่สุด
ณ วันที่ 2 มกราคม 2556 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 180 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 720 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท และทุนเรียกชำระแล้วจำนวน 130 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 520 ล้านหุ้น โดยหลังเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ บริษัทฯ จะมีทุนชำระแล้วเพิ่มเป็น 180 ล้านบาท