ผู้เชี่ยวชาญ สศค. ชี้การขยายตัวของเงินเฟ้อที่ 3% ในปีนี้ จะไม่เป็นแรงกดดันต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทาง ศก. พร้อมระบุ การขึ้นค่าแรง และราคาน้ำมันยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญดันเงินเฟ้อเพิ่ม
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจะปรับเพิ่มขึ้น แต่เฉลี่ยโดยรวมทั้งปีแล้ว ถือว่าอยู่ในระดับที่ สศค.ประมาณการไว้ที่ 3% ส่วนปีหน้านั้น สศค.ยังประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้
โดยที่การปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศในปีนี้ จะไม่มีผลต่อการปรับขึ้นของเงินเฟ้อมากนัก เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นในจังหวัดส่วนที่เหลือ หรือคิดเป็น 20% ของทั้งประเทศ ขณะที่การขึ้นอัตราค่าแรงในปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นมากนัก
ส่วนปัจจัยด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ แต่แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีนี้นั้นก็ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยมองว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดดูไบน่าจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 3.6% จากปีก่อนหน้า โดยมีปริมาณความต้องการอยู่ที่ประมาณ 8 แสนบาร์เรลต่อวัน ดังนั้น สศค.จึงประเมินว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยมากนัก
เมื่ออัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ดังนั้น จึงไม่เป็นแรงกดดันต่อการปรับดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ โดยที่ดอกเบี้ยนโยบายยังทำหน้าที่ในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ดี
น.ส.กุลยา มองว่า เงินเฟ้อปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งไม่ถือว่าเลวร้ายพอที่จะมีการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดัน เชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายจะทำหน้าที่ในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ