xs
xsm
sm
md
lg

บจ.ขนาดย่อมเบนเข็มสู่ธุรกิจพลังงาน ลดเสี่ยง-เพิ่มศักยภาพดันรายได้โต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหารบริษัทขนาดย่อม พร้อมหน้าเบนเข็มสู่พลังงานทุกรูปแบบ “เดมโก้” เห็นชัดเจนสุดหลังรุกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเต็มสูบ ขณะ “กันกุลฯ” ลุยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในพม่า  ส่วน “ไอโดรเท็ค” เร่งศึกษาพลังงานทดแทนเล็งพม่าเป้าหมายต่อยอดธุรกิจ ส่วน “อินเตอร์ลิงค์ฯ” ศึกษามาระยะหนึ่งแล้วรอจังหวะความเหมาะสม  ด้าน  “เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ” บุกเข้าลงทุนทยอยซื้อเหมืองถ่านหินต่อเนื่อง  ล่าสุด เผยเล็งสร้างโรงไฟฟ้าในเหมืองที่อินโดฯ  ผู้บริหารล้วนประสานเสียง ต่อยอดธุรกิจลดความเสี่ยงรายได้หลัก และเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน บางแห่งลดต้นทุนด้านพลังงาน-รับปันผล   

    จากการสัมภาษณ์ และติดตามข้อมูลของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง พบว่า ระยะหลังมานี้  หลายบริษัทเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการทำธุรกิจด้านพลังงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานทดแทน หรือการสร้างโรงไฟฟ้าที่ต่อยอดจากธุรกิจที่ดำเนิการอยู่  ส่วนหนึ่งเพราะต้องการลดต้นทุนเพราะผลิตเพื่อนำไฟฟ้าใช้เองในโรงงาน แม้อีกบางแห่งอาจผลิตเพื่อจำหน่ายก็ตาม  โดยนัยก็หมายถึง การเบนจากธุรกิจหลักที่เคยดำเนินการอยู่ มาสู่อีกหนึ่งธุรกิจที่สร้างเงิน และยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล  ที่เห็นได้ชัดที่สุดเริ่มแรกๆ นั่น คือ  บริษัท เดมโก้ จำกัด (มหาชน) ที่ลุยผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลม และดูเหมือนจะประสบผลสำเร็จอย่างมากด้วย   เห็นได้จากผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ    นอกเหนือจากธุรกิจเดิมที่ทำอยู่อย่างงานสร้างสถานีไฟฟ้า และยังสายส่ง ซึ่งอิงกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

    โดยจากการที่บริษัทเริ่มงานในเรื่องของพลังงานคือ โรงไฟฟ้ากังหันลม ส่งผลให้บริษัทต้องปรับเป้าหมายการเติบโตปีนี้แตะ  6.2 พันล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 6 พันล้านบาท นั่นก็เพราะส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าอย่างเป็นทางการก่อนกำหนด คือ โครงการห้วยบง 3 ขณะที่โครงการห้วยบง 2 คืบหน้าไป 80% แล้ว และจะจ่ายไฟฟ้าขายสู่ระบบได้มกราคม 56 ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เร็วจากแผนเดิมที่คาดว่าจะขายได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 56 ซึ่งนั่นก็หมายถึง เงินรายได้จะเข้ามาสู่บริษัท แม้การรับรู้รายได้จากโครงการนี้เป็นเงินปันผล เพราะเป็นการร่วมลงทุนแต่ก็จะได้รับเงินดังกล่าวปีละเกือบ 200 ล้านบาท   

 

    นอกจากนี้ จากการที่จะเกิดประชาคมอาเซียน ผู้บริหาร DEMCO  มองว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุนรวมทั้งการขยายงานของบริษัทด้วย เพราะความชำนาญในการเป็นผู้ประกอบการด้านสายส่งและสร้างสถานีเพื่อส่งกระแสไฟฟ้าให้แก่ลูกค้า และในอนาคตจะมีการร่วมมือกันเป็น ASIAN   SMART   GRID  เป็นการสร้างโครงการระบบสายส่งและสถานีเชื่อมกันเพื่อส่งกระแสไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึงในละแวกอาเซียน และ  DEMCO ในฐานะที่ชำนาญก็มีโอกาสจะเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้ต้องกังวล

      “ตอนนี้ภาพยังไม่ชัดเจนหรอกครับ แต่เบื้องต้นผมมองว่า ถ้าเราจะเข้าไปลงทุนก็ต้องไป joint  venture กับผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆ ครับ  เราต้องมาคุยเรื่องแผนงานของเราอีกครั้ง” 
    โดยปกติ DEMCO ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้เฉลี่ยไว้ที่ปีละไม่เกิน  30%  แต่ปี 55 นี้การเติบโตจะสูงถึงเกือบ  80% จากปี 54  และในปี  56  อัตราการเติบโตของผลการดำเนินงานก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

    นอกจากนี้ ยังมี   บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ที่เดินหน้าอย่างเต็มสูบในการขยายงานด้านพลังงานทดแทนเต็มตัว นั่นคือโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และในอนาคตจะขยายธุรกิจไปสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม     ซึ่งมูลค่าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ สูงถึง  2,390 บาท อันจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโต และการขยายตัวด้านธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ขนาด  30.9 เมกะวัตต์ ซึ่ง GUNKUL ได้ร่วมลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้ว

    ขณะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนั้น  จะเข้าไปลงทุนในพม่า เพราะมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจดังกล่าว เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจให้ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ได้รับสัมปทานแล้ว 3 รัฐ จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ และหากดำเนินการแล้วเสร็จจะถือเป็นการต่อยอดธุรกิจในประเทศพม่า  จากปัจจุบันที่มีเฉพาะธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าเท่านั้น

    ด้าน บริษัท ไฮโดรเท็ค จำกัด (มหาชน) หรือ HYDRO  ที่แม้ว่าแรกเริ่มพื้นฐานของบริษัทจะเพื่อดำเนินธุรกิจรับก่อสร้าง และรับบริหารจัดการงานวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม หรืออีกนัยหนึ่งคือ การจัดการบริหารน้ำอย่างครบวงจรแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล หรือแม้แต่การรีไซเคิลน้ำก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่ถนัด  ดังนั้น การเล็งที่จะไปลุยงานแบบนี้ในอินโดนีเซีย  ก็เป็นอีกแผนการลงทุนหนึ่งของ HYDRO  ที่จะมุ่งไปในปีนี้เพราะมองถึงศักยภาพ และการเติบโตอีกทั้งความต้องการน้ำที่จะรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของอินโดนีเซีย รวมถึงการที่เปิดเสรีประชาคมอาเซียน ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่จะทำให้ต้องมุ่งเข้าไปลงทุนทำงานในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้

    ขณะอีกหนึ่งการลงทุนก็ไม่พ้นธุรกิจพลังงานในประเทศลาวของโครงการไฮโดรเพาเวอร์ มูลค่าโครงการ 500-1,000 ล้านบาท  ซึ่งแผนเริ่มแรกนั้น HYDRO  คาดว่าอาจร่วมไปกับพันธมิตร อย่าง  บมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น(TRC) บมจ.ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ (UAC) และ บมจ.ผลธัญญะ (PHOL) เป็นลักษณะการร่วมทุน หรือหากมีกฎที่จะต้องให้นักลงทุนท้องถิ่นร่วมถือหุ้นด้วยก็ไม่ขัดข้อง   ซึ่งการร่วมลงทุนดังกล่าวไม่ใช่ปัญหา หากแต่ต้องขึ้นอยู่กับภาวะ และความเหมาะสมในการลงทุนช่วงนั้นๆ ด้วย   เบื้องต้น ต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

    โดยการดำเนินงานนั้น   HYDRO ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ไว้ปีละไม่ต่ำกว่า  30%  ซึ่งการเข้าประมูลงานในประเทศยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง เพราะยังมีเทศบาลในประเทศอีกไม่น้อยรอให้เข้าหางานได้ต่อเนื่อง   อันเป็นผลมาจากข้อจำกัดเรื่องการลงทุนของ การประปาส่วนภูมิภาค  และส่วนหนึ่งเพราะ HYDRO ต้องการให้สัดส่วนรายได้จากลงทุนโครงสร้าง 50% และงานรับเหมาและบริหาร  50% ซึ่งก่อนจะถึงจุดนั้นรายได้จากการลงทุนโครงสร้างจะค่อยๆ เห็นความชัดเจนมากขึ้น  ซึ่งจะขยับเพิ่มแตะ 10% ในปี 57 และเป็น 20% ในปี  58   ขณะที่อัตราการเติบโตรวมของบริษัทจะอยู่ที่ปีละ 30%  รวมทั้งปี 55  ด้วย   ส่วนตัวเลขมาร์จิ้นจากปีนี้อยู่ที่ 6-7% ก็จะพยายามทำให้สูงเกิน 7% ในอนาคตอันใกล้นี้   

     นอกจากนี้ ยังมีบริษัท อินเตอร์ลิงค์ จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ที่มองหาโอกาสที่จะลงทุนทำธุรกิจพลังงานทดแทน   ซึ่งผู้บริหารยอมรับว่าสนใจ และอยู่ในระหว่างการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว    ส่วนโครงการจะเกิดได้เมื่อไรนั้น ถือว่าไม่เร่งรีบเพราะหากทุกอย่างพร้อมก็ลงทุนได้ เนื่องจากปัจจุบัน บริษัทมีเงินทุนเพียงพอสำหรับการลงทุน นอกจากนี้  ILINK   ยังมีอีกหลายโครงการเพื่อแผนงานในอนาคต เพื่อแตกไลน์ธุรกิจมากขึ้น ซึ่งมีอยู่  2-3 ธุรกิจแต่ไม่ได้รับการเปิดเผยจากผู้บริหาร เนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด และหาข้อมูลเพิ่มเติม  

     “เราต้องสนใจ และหาความรู้เข้าไว้ แต่ยังไม่ได้อยู่ในแผนของเรา แต่เป็นการเตรียมพร้อมไว้มากกว่ารอโอกาส และจังหวะที่เหมาะสมเช่นเดียวกับธุรกิจพลังงานทดแทนที่เราศึกษามาระดับหนึ่งแล้ว แต่ขณะนี้ การลงทุนหนักๆ  เพิ่มเติมก็ยังขยับยาก   ส่วนเงินทุนอื่นๆ เราก็ไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุน เพราะเรามีหนี้ระยะยาวน้อยมาก”    
   

ล่าสุด ที่บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH หลังจากพยายามซื้อเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียเพื่อสำรองถ่านหินไว้เป็นวัตถุดิบในการขายให้แก่ลูกค้า และจากการที่บริษัทได้เข้าลงทุนในซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นของ PT.Hary Niaga ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในอินโดนีเซีย และได้รับสัมปทานประเภท Izin Usaha Pertambanhan Eksplorasi (IUP Exploration) จากรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทจะขอเข้าถือหุ้นใน PT.Hary Niaga 100% จากผู้ถือหุ้นเดิมของ PT.Hary Niaga ทั้งสิ้นไม่เกิน 3,694,800,000 บาท จากผู้ถือหุ้นของ PT.Hary Niaga ซึ่งมูลค่าหุ้นที่ซื้อคำนวณจากปริมาณสำรองถ่านหิน (Reserve) ไม่เกิน 40 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีแผนที่จะเข้าซื้อสัมปทานจากผู้ขายรายเดิมในเหมืองถัดไป ซึ่งได้มีการเจรจาไว้ล่วงหน้าแล้ว เพื่อเป็นการรองรับ Mission ตามแผน 5 ปีข้างหน้า และในขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการสร้างโรงไฟฟ้าในเหมืองถ่านหิน เพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่รัฐบาลประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแผนในอนาคตในการต่อยอดธุรกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น