xs
xsm
sm
md
lg

“กสิกร” คาดแนวโน้มการส่งออกของไทยปี 56 อาจเร่งตัวได้ถึง 12.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสิกรไทย คาดแนวโน้มการส่งออกของไทยปี 2556 อาจเร่งตัวได้ถึง 12.5% โดยมีหลายปัจจัยช่วยหนุน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ “การส่งออกเดือน พ.ย.2555 ขยายตัวเพราะฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า...ทั้งปี’ 55 ขยายตัวร้อยละ 4” ระบุว่า การส่งออกของไทยในเดือน พ.ย. 2555 ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 26 ธ.ค.2555 สามารถบันทึกอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 26.86 (YoY) แต่มูลค่าการส่งออกก็ยังคงไม่สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามากนัก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าในกลุ่มเกษตร/เกษตรแปรรูป แม้ว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยก็ตาม

ทั้งนี้ แม้ผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อนจะช่วยหนุนให้การส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปีขยายตัวในอัตราสูง แต่ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ก็ยังคงเป็นปัจจัยกดดันระดับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศในช่วงสิ้นปี 2555 ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2555 น่าจะขยายตัวใกล้เคียงร้อยละ 4.0 สำหรับทิศทางการส่งออกในปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งทิศทางราคาสินค้าเกษตร และโภคภัณฑ์ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับของอุปสงค์จากต่างประเทศ น่าจะช่วยหนุนให้การส่งออกของไทยเติบโตขึ้นจากปี 2555 และอาจสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวได้ถึงร้อยละ 10-15

สถานการณ์ส่งออกเดือนล่าสุด และมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยต่อการส่งออกปี 2556

@ การส่งออกเดือน พ.ย. 2555 ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย...ทั้งปีอาจขยายตัวใกล้เคียงร้อยละ 4.0

การส่งออกยังคงค่อยๆ ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น โดยสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 26.86 (YoY) ในเดือน พ.ย. 2555 อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกรายเดือนขยับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากเดือน ต.ค. หรือร้อยละ 0.16 (MoM) มาอยู่ที่ 19,555.91 ล้านดอลลาร์ฯ โดยตลาดส่งออกหลักบางตลาด เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ มีทิศทางที่ไม่แน่นอน ซึ่งหักล้างแรงหนุนจากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไปยังจีน และเอเชียบางประเทศที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ ในมิติของสินค้าส่งออกสำคัญนั้น แรงฉุดสำคัญยังมาจากการหดตัวต่อเนื่องของสินค้าเกษตร (หดตัวร้อยละ 9.9 YoY และหดร้อยละ 6.7 MoM) นำโดย ข้าว มันสำปะหลัง/ผลิตภัณฑ์ และ ยางพารา/ผลิตภัณฑ์ ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย (ร้อยละ 0.8 MoM) ตามการชะลอตัวของมูลค่าส่งออกยานยนต์/อุปกรณ์ คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ อัญมณี/เครื่องประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภท เช่น เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และเครื่องปรับอากาศ

ทั้งนี้ แม้การส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 4/2555 จะสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนในระดับสูงถึงสองหลัก แต่ต้องยอมรับว่า เกือบทั้งหมดเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อน ขณะที่สัญญาณการเพิ่มขึ้นของมูลค่าส่งออกสินค้าสำคัญยังอยู่ในช่วงเริ่มแรก เนื่องจากยังต้องรอการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย ซึ่งคาดว่า จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2556 ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2555 อาจขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 4.0

@ แนวโน้มการส่งออกปี 2556 อาจเร่งตัวถึงร้อยละ 12.5 จากหลายปัจจัยสนับสนุน

แม้ประเด็นเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นตัวแปรหลักที่จะส่งผลต่อกระบวนการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อทิศทางของภาคการส่งออกในปี 2556 ที่กำลังจะมาถึง โดยคาดการณ์ในเบื้องต้นว่า การส่งออกของไทยในปี 2556 ยังคงมีโอกาสขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นไปที่ร้อยละ 12.5 โดยนอกเหนือจากผลของฐานเปรียบเทียบที่ค่อนข้างต่ำในปี 2555 แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่จะช่วยหนุนให้ภาพรวมการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เช้น

- ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกไม่พลิกผันไปในทิศทางที่ย่ำแย่ลง แม้เศรษฐกิจยูโรโซนยังมีแนวโน้มต้องเผชิญกับภาวะถดถอยต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงเปราะบางต่อแนวทางการแก้ปัญหาหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเสี่ยงของยุโรป และสหรัฐฯ น่าจะอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเมื่อรวมกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องของธนาคารกลางทั้ง 2 ประเทศ ก็น่าจะทำให้ผลเชื่อมโยงต่อบรรยากาศการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทยอยเข้าสู่สถานการณ์ที่นิ่งมากขึ้นในระยะต่อไป

- สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีความต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจจีนน่าจะเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 ขณะที่แนวทางการบริหารประเทศของผู้นำจีนชุดใหม่ที่เน้นการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพนั้น ทำให้คาดหวังว่า จะมีการกระตุ้นอุปสงค์ในจีนควบคู่ไปกับการขยายการค้าภายในภูมิภาคเอเชียเพื่อทดแทนผลกระทบจากการส่งออกไปยังชาติตะวันตก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว น่าจะเอื้อประโยชน์ให้ภาคการส่งออกของภูมิภาคเอเชีย และไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นในปี 2556

- การขยายการค้าการลงทุนสู่ตลาดศักยภาพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้การกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวของการส่งออกไทยมีภาพที่มั่นคงมากขึ้นในปี 2556 (และปีต่อๆ ไป) โดยเฉพาะตลาดส่งออกที่เป็นคู่สัญญากรอบการค้าเสรีกับไทย และค่อนข้างมีภูมิคุ้มกันจากทิศทางที่ผันผวนของเศรษฐกิจโลก เช่น

กลุ่มตลาดในภูมิภาค ที่เป็นคู่ค้าเดิมในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว และพม่า เป็นต้น

กลุ่มตลาดใหม่ ได้แก่ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กลุ่มตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ รวมไปถึงกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางอย่าง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน และกาตาร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเติบโตของการค้าในตลาดศักยภาพจะช่วยเพิ่มระดับมูลค่าการส่งออกในสินค้าสำคัญหลายรายการ โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มที่เป็นแกนนำในการส่งออก เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่สินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคก็น่าจะได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนี้เช่นกัน

- ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูป น่าจะได้รับแรงเสริมด้านราคาตามการสูงขึ้นของทิศทางราคาในตลาดโลก อันเป็นผลจากวัฏจักรเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว (โดยเฉพาะยางพารา และมันสำปะหลัง ที่คงได้รับอานิสงส์จากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากจีนประเทศที่บริโภค) ก็จะเป็นตัวช่วยเร่งการฟื้นตัวของภาคการส่งออกในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มมีจังหวะการขยายตัวที่สม่ำเสมอมากขึ้นเช่นกัน

โดยสรุป แม้ภาพรวมการส่งออกในเดือน พ.ย. 2555 จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 26.86 (YoY) แต่โมเมนตัมของการขยายตัวที่ค่อนข้างเบาบางก็สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจมีผลทำให้คำสั่งซื้อในช่วงสุดท้ายของปีเพิ่มขึ้นไม่มากเท่าที่คาดหวัง และมีผลเชื่อมโยงทำให้มูลค่าส่งออกในไตรมาส 4/2555 ไม่อาจไต่ระดับขึ้นจากไตรมาสก่อนได้มากนัก แม้ว่าอานิสงส์จากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อน จะส่งผลให้การส่งออกของไทยสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวได้ในระดับค่อนข้างสูง และเพียงพอที่จะประคองภาพรวมการส่งออกในปี 2555 ให้ขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 4.0

สำหรับทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกของไทยน่าจะเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงต้นปี 2556 หากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกไม่พลิกผันจนกระทบแนวโน้มทั้งปี 2556 ให้ต่างไปจากประมาณการเดิมมากนัก ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกบางรายการน่าจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของทิศทางราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และเมื่อผนวกกับผลของฐานการส่งออกที่ขยายตัวค่อนข้างต่ำในปี 2555 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปัจจัยหนุนดังกล่าวน่าจะช่วยผลักดันให้การส่งออกของไทยสามารถบันทึกอัตราการขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 10-15 โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 12.5
กำลังโหลดความคิดเห็น