xs
xsm
sm
md
lg

THCA จี้รัฐแก้ปัญหาแรงงานขาด ผวา! กทม.-ปริมณฑลเข้าขั้นวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สิทธิพร สุวรรณสุต
THCA แจงปัญหาขาดแคลนแรงงาน กทม.-ปริมณฑล จังหวัดใกล้เคียงวิกฤต ระบุรัฐไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริง อ้างความมั่นคงปิดประตูจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่ม แต่แรงงานเถื่อนทะลักสูงกว่าที่ลงทะเบียน พร้อมดันสมาชิกดึงเทคโนโลยีช่วย ฟันธงรายใหญ่ฮุบตลาด เหตุมีศักยภาพการเงินสูงเข้าถึงเทคโนโลยีมากกว่า

นับตั้งแต่ปลายปี 2554 ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากแรงงานต่างด้าวเริ่มทยอยกลับสู่ภูมิลำเนาเดิม โดยเฉพาะแรงงานพม่า ที่กลับประเทศ หลังจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเกิดขึ้นของโครงการทวาย

จี้รัฐเปิดเสรีขึ้นทะเบียนจ้างงานต่างด้าว

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THCA) กล่าวว่า ภาครัฐบาลไม่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้น ทำให้สภาพปัญหาของภาคการก่อสร้างยิ่งหนักขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ ในปัจจุบันแรงงานต่างด้าวที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องในประเทศไทยมีจำนวน 1.4 ล้านราย ขณะที่การสำรวจพบว่า มีแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในระบบมีสูงถึง 1.6 ล้านราย หรืออาจมากกว่านั้น ซึ่งทุกภาคอุตสาหกรรมรับรู้ข้อมูล แต่ภาครัฐกลับไม่ดำเนินแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยให้เหตุผลว่า การเปิดรับลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวในจำนวนมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเกรงว่าแรงงานต่างด้าวจะเข้ามาร่วมใช้สาธารณูปโภคภายในประเทศมากจนเกินไป

“รัฐบาลควรยอมรับความจริงว่า มีแรงงานผิดกฎหมายเข้าเมืองมาทำงานอยู่ในประเทศ มีจำนวนสูงกว่าแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายอยู่จริง ดังนั้น ภาครัฐควรเปิดเสรีการขึ้นทะเบียนการจ้างแรงงานต่างด้าวได้โดยอิสระ แทนการจำกัดการเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานในแต่ละปี หากสามารถดำเนินการได้ก็จะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้อย่างมาก”

นอกจากนี้ ปริมาณแรงงานที่เข้าสู่ระบบมีจำนวนน้อยลง เนื่องมาจากระบบการศึกษาได้มีการพัฒนาจนเข้าถึงกลุ่มประชาชนมากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับโอกาสที่สูงขึ้น และก้าวเข้าสู่ระบบการจ้างงานในสถาบัน และองกรค์ หรือธุรกิจต่างมากขึ้น โดยเฉพาะในระบบงานด้านสำนักงาน และโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้แรงงานภาคก่อสร้างมีจำนวนลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคการก่อสร้างขึ้น

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ สถาบันการศึกษาภาควิชาชีพที่ผลิตบุคลากรด้านก่อสร้างออกมารองรับความต้องกรของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างในปัจจุบันยังมีจำนวนลดลง กลายเป็นลูกโซ่ที่เพิ่มวิกฤตขาดแคลนแรงงานสูงขึ้น

กทม.-ปริมณฑลวิกฤตสุด

จากการสำรวจผลกระทบ และพื้นที่ที่เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในปี 2254-2555 ของสมาคมฯ พบว่า พื้นที่ใน กทม.และปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง เรียกได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น ภาคใต้นับว่ามีความรุนแรงมากแต่ยังน้อยกว่า กทม.และปริมณฑล ส่วนในจังหวัดภาคอีสานการขาดแคลนแรงงานนั้นเป็นไปตามฤดูกาล เนื่องจากมีแรงงานในพื้นที่จำนวนมาก แต่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวจะหายไปจากตลาด ขณะที่ภาคเหนือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะมีแรงงานต่างด้าวไหลเข้า และออกอยู่ตลอดเวลา

THCA กระตุ้นสมาชิกดึงเทคโนโลยีแก้ปัญหา

ในฐานะนายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า เพื่อรองรับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทางสมาคมฯ พยายามหาแนวทางช่วยเหลือสมาชิก ด้วยการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เสริมกระบวนการทำงาน เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานในอนาคต แต่อาจจะกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ สมาคมฯ ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษานอกโรงเรียน เช่น โรงเรียนสารพัดช่าง จัดฝึกอบรมหลักสูตรพิเศษ เพื่อสร้างแรงงานฝีมือเข้าสู่ระบบ ซึ่งสมาคมฯ พร้อมรับบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเข้ามาทำงานในบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ โดยการันตีค่าจ้างเบื้องต้น 450 บาทต่อวัน แต่โครงการดังกล่าวต้องหยุดลง เนื่องจากผู้เข้าอบรมในหลักสูตรดังกล่าวจำนวนน้อยมาก มีจังหวัดละ 2-3 คนเท่านั้น

“หากสภาพปัญหายังคงไม่เปลี่ยนแปลงเชื่อว่าในอนาคต เมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น จะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ก่อสร้าง และบริษัทขนาดเล็ก เช่น SME มากขึ้น ในขณะที่ผู้ที่จะได้เปรียบคือ บริษัทขนาดใหญ่ที่จะเข้ามากลืนกินรายเล็กให้หมดไป เนื่องจากมีศักยภาพด้านการเงินที่มากกว่า ขณะที่รายเล็กขาดแคลนแหล่งเงินที่จะซื้อเทคโนโลยีเข้ามาใช้แข่งขันได้” นายสิทธิพรกล่าวเตือนผู้ประกอบการรายเล็กให้รีบเร่งปรับตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น