xs
xsm
sm
md
lg

BCH เร่งสร้าง รพ.เพิ่มเสริมทัพ รองรับลูกค้าหลังเปิดประตู AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 บางกอก เชน ฮอสปิทอล เร่งสร้างโรงพยาบาลในเชียงรายเพิ่มอีกหลายแห่ง เชื่อหลังสะพานข้ามโขงแห่งที่  4   แล้วเสร็จ  ปริมาณนักท่องเที่ยวผ่านเส้นทางนี้หนาแน่นขึ้น  หนุนบริการคึกขานรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน พร้อมทุ่ม 1 พันล้านสร้างโรงพยาบาลย่านรามคำแหง  คาดเปิดให้บริการได้ปี 58   เผยโรงพยาบาลแห่งใหม่หนุนกำไรให้บริษัท มั่นใจปีนี้รายได้โต 10% หรือ 4,400 ล้านบาท  จากปี 54  ที่ทำรายได้ไว้ 3.9 พันล้านบาท  

    นายแพทย์เฉลิม    หาญพาณิชย์   ประธานกรรมการ   บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ  BCH   เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการขยายงาน ด้วยการจะลุยสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงรายเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง  คือ โรงพยาบาลศูนย์แพทย์เฉพาะในอำเภอเมืองเชียงราย  บนพื้นที่  26 ไร่  ขนาด 250-300  เตียง ใช้ทุนประมาณ  120 ล้านบาท  และที่แม่สายเป็นโรงพยาบาลขนาด  30 เตียง  งบลงทุนไม่น่าจะเกิน 5-6  ล้านบาท หรือเต็มที่ก็ไม่น่าจะเกิน  10 ล้านบาท    คาดเริ่มดำเนินการได้ในปี  56   

    นอกจากนี้ ยังมีที่ดินที่อำเภอเชียงของอีก  5 ไร่กว่า  จะสร้างเป็น  poly  doctor  clinic  และที่เชียงแสนก็เช่นเดียวกันใช้งบแห่งละไม่สูงมากนัก   โดยการสร้างโรงพยาบาลในเชียงรายเพราะหวังให้ผู้ป่วยรอบนอกได้รับการรักษาที่ดี และเชียงรายเป็นเหมือนหน้าด่านที่รองรับนักลงทุน และนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาจากประเทศใกล้เคียง  ที่สำคัญ หากเกินกำลังจะรักษาก็ส่งมาให้แก่โรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์ และเครื่องมือที่ครบครันในตัวเมืองได้ เป็นการให้บริการทางการแพทย์ลักษณะเชนการให้บริการของบริษัท  

   “การที่เราไปเน้นเชียงราย  ส่วนหนึ่งเพราะเรามีที่ดินซื้อไว้หลายแห่ง และเราต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยว และต้อนรับประชาคมอาเซียน หรือ AEC  ที่จะมีขึ้น  เราก็ต้องมีบริการด้านการแพทย์ที่ดีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว หรือนักลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคต  และการให้บริการของเราครบวงจรและมีแพทย์ดูแลในทุกโรค แม้ในส่วนที่เป็นคลินิกแต่เราก็จะมีแพทย์ดูแลครบ ถือเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยในจังหวัดนั้นครับ”   

    เนื่องจากขณะนี้สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่  4  จะแล้วเสร็จ รวมทั้งถนนสาย  R3A  ที่สร้างแล้วเสร็จ  ทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างไทย  จีน และลาว   สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น  ส่งผลให้การค้าชายแดน หรือแม้แต่การเดินทางท่องเที่ยวก็จะมีมากขึ้นด้วย   และนั่นก็หมายถึงหากมีการเจ็บป่วย หรือต้องการรักษาแบบเร่งด่วนผู้ป่วยสามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้สุดได้อย่างไม่ลำบาก หรืออีกนัยหนึ่งคือ BCH  หวังจะมีศูนย์กลางทางการแพทย์ในเขตภาคเหนือให้ครอบคลุม

 นอกจากนี้ BCH  ยังมีที่ดินรองรับการก่อสร้างโรงพยาบาลอีกแห่งบนถนนรามคำแหง คาดเป็นโรงพยาบาลขนาด  250-300 เตียง และใช้เงินทุนประมาณ  1  พันล้านบาท   ขณะนี้อยู่ระหว่างทำเรื่องเอกสารขอ EIA  หรือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม  หากทุกอย่างผ่านความเห็นชอบบริษัทก็จะก่อสร้าง และแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ต้นปี  58  

 “จากนั้นเราก็จะไปสร้างที่พัทยาอีกแห่งครับเพราะเรามีที่ดินเตรียมไว้แล้ว และอาจต้องหาซื้อที่ดินข้างๆ เพิ่มอีกเพื่อขยายพื้นที่โรงพยาบาล  เพื่อรองรับการท่องเที่ยว และหลังการเปิดครับ  แต่โครงการนี้คงเป็นรอบต่อไป  ตอนนี้เราต้องให้ที่รามคำแหงสร้างแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการก่อน จากนั้นค่อยว่ากันตามสเต็ป แต่ที่แน่ๆ ที่เชียงรายต้องดำเนินการได้ก่อนรามคำแหงครับ   แต่ขนาดของโรงพยาบาลในเขตเมืองต้องลงทุนพอสมควร ยังประเมินที่พัทยาไม่ได้ครับ”    

     นายแพทย์เฉลิมกล่าวถึงการซื้อโรงพยาลบาล  เวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์  (WMC) มูลค่าการลงทุนประมาณ 2,200 ล้านบาท  เป็นโรงพยาบาลขนาด 324 เตียง  ที่ถนนแจ้งวัฒนะ  หวังจะใช้การขยายการบริการเข้าสู่กลุ่มลูกค้าตลาดระดับบน  อันจะทำให้รายได้ของบริษัทฯ เพิ่มมากขึ้นในอนาคต และจะเปิดให้บริการปลายปี 55 หรือต้นปี  56  เป็นอย่างช้า  คาดเบื้องต้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลาคืนทุนใน 6 ปีครึ่้ง    

    “เราจะใช้เงินทุนหมุนเวียนของเราประมาณ  1,800  ล้านบาท และกู้ในส่วนที่เหลือ    เราไม่อยากกู้มากเพราะทุนเราเพียงพอ  และถึงจะกู้สัดส่วนของอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E RATIO ) ของเราก็ต่ำมาก ประมาณ  0.4  เท่า  ส่วนการลงทุนโรงพยาบาลขนาดเตียงไม่มาก เราก็ใช้ทุนของเราดีกว่าครับ”  

     สำหรับการที่ BCH  เข้าซื้อลงทุนในโรงพยาบาลเขตเมืองใหญ่ๆ นั้น เป็นกลยุทธ์ที่ต้องการจับกลุ่มลูกค้าในแต่ละระดับ กล่าวคือ เวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์  และเกษมราษฎร์ เน้นลูกค้าระดับบน  ส่วนศูนย์การแพทย์เฉพาะทางและโพลีคลินิกต่างๆ นั้นจะเน้นลูกค้าระดับกลาง และทั่วไปที่ต้องการเข้าใช้บริการได้เพื่อเป็นการบริการคนไข้ได้อย่างทั่วถึง และเป็นการกระจายความเสี่ยงในด้านการรับรู้รายได้ให้แก่บริษัทด้วย

    นอกจากนี้   บริษัทยังมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้เพื่อให้โตต่อเนื่องตามเป้าหมาย และอีกหนึ่งทางคือ หลังจากที่บริษัทยกเลิกการหนุนโครงการ  30 บาทรักษาทุกโรคไปเมื่อปี 53  พบว่ารายได้บางส่วนหายไป แต่เมื่อปี  54   BCH  ก็ได้กลับมาให้บริการนี้   ส่งผลให้ตัวเลขรายได้จากส่วนนี้เข้ามาหนุนอีกทาง ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตได้ต่อเนื่องตามแผน   ซึ่งจากผลงานปี 54  บริษัททำรายได้รวมไว้ที่ 3,991.44  ล้านบาท

    โดยปีนี้  BCH ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ไว้ที่ 10%  หรือ 4,400 ล้านบาท    ซึ่งจากผลงานสองไตรมาสแรกที่ประกาศออกมานั้น ก็เป็นที่พอใจของผู้บริหาร   พร้อมยืนยันว่า ผลงานไตรมาส 3 ที่กำลังจะประกาศออกมานี้ก็ยังโตได้ต่อเนื่อง  

    สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส  3 ปีนี้พบว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ  238.74 ล้านบาท   ขณะที่งวดนี้ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 194.86 ล้านบาท  43.88 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น  22.51%   โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษี เป็นเงิน 357.8 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสที่ 3/2554 มีกำไรจากส่วนนี้  327.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น30.1 ล้านบาท หรือ 9.2%  

    โดยงวดนี้บริษัทมีรายได้รวม  1,158.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2554 เป็นเงิน 47.3 ล้านบาท คิดเป็น 4.3% ซึ่งแบ่งเป็นรายได้จากผู้ป่วยเงินสดเพิ่มขึ้น 43.8 ล้านบาท หรือ 5.7  % รายได้จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น28.9 ล้านบาท หรือ  10.2% รายได้จากกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้าลดลง 20.9 ล้านบาท หรือ  60.3%  และรายได้อื่นลดลง 4.5 ล้านบาท หรือ  22.2% ขณะมีค่าใช้จ่ายรวมงวดนี้   803.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2554 เป็นเงิน 14.6 ล้านบาท คิดเป็น  1.8%

นายแพทย์เฉลิม   กล่าวถึงผลงานปี 56 ว่าจะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 20%  เนื่องจากโรงพยาบาลสาขาเดิมทั้ง 6 แห่ง มีการเติบโต ซึ่งทำให้รายได้เติบโต 10% และรับรู้รายได้จากเปิดให้บริการโรงพยาบาลเวิล์ดเมดิคอลเซ็นเตอร์  ในเดือนมกราคม ซึ่งปีแรกจะสร้างรายได้ 600-700 ล้านบาท  ส่วนกำไรสุทธิปีหน้าคาดว่าจะมีการเติบโตมากกว่าปี 2555 แม้บริษัทจะมีการบันทึกค่าเสื่อมจากลงทุนโรงพยาบาลเวิล์ดเมดิคอลเซ็นเตอร์เข้ามาก็ตาม  
 

 
    
    
 
    
 
กำลังโหลดความคิดเห็น