ธปท. ชำแหละปัญหา “หน้าผาการคลัง” ไม่ร้ายแรงเหมือนหนี้ยุโรป เพราะยังสามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ “ทีม ศก.แบงก์ชาติ” ประเมิน Fiscal Cliff มีทางออก พร้อมคาด รบ.สหรัฐฯ เจรจากันได้ เชื่อไม่กระทบ ศก. รุนแรง
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทีมเศรษฐกิจของ ธปท. ประเมินว่าปัญหาหน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff) ของสหรัฐฯ จะมีทางออกที่ดี โดยมองว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะต่ออายุมาตรการภาษีในหลายตัวออกไป ขณะที่บางตัวอาจเลือกใช้วิธีตัดลดทอนลงมา ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดย ธปท. ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2556 ไว้ที่ระดับ 1.9% ส่วนปีนี้อยู่ที่ 2.1%
“ตัวที่อยู่ใน Fiscal Cliff มีสัดส่วนคิดเป็น 3.5% ของจีดีพีสหรัฐฯ เราคิดว่าส่วนใหญ่สหรัฐฯ จะเลือกวิธีต่ออายุออกไปแต่คงไม่ทั้งหมด บางส่วนอาจตัดทอนลงมาบ้าง แต่คิดว่าไม่ถึงกับทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสียหาย เพราะว่าโดยพื้นฐานแล้วสหรัฐฯ ยังต้องทำวินัยการคลังที่เข้มงวดขึ้น ทั้งระยะปานกลาง และระยะยาว ดังนั้น การลดการใช้จ่าย หรือการเพิ่มภาษีบางจุดจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น”
ส่วนความเป็นไปได้ที่พรรครัฐบาลจะไม่สามารถตกลงกับสภาคองเกรสในเรื่องนี้ได้นั้น เชื่อว่าจะมีโอกาสน้อยมาก เพราะถ้าทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้จริงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างรุนแรง และเศรษฐกิจโลกก็คงได้รับผลกระทบด้วย
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ปัญหา Fiscal Cliff ที่ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจแท้จริงของทางสหรัฐฯ บ้างแล้ว เพราะทำให้ภาคธุรกิจเกิดความกังวลใจ และลังเลที่จะลงทุน เนื่องจากมองว่ายังมีความเสี่ยงจากเรื่องดังกล่าวอยู่
“เราเชื่อว่ามีผลต่อภาคเศรษฐกิจจริง ผ่านช่องทางการใช้จ่ายโดยตรง เป็นดีมานด์ที่หายไปโดยตรง และยังผ่านช่องทางอื่น ทั้งในเรื่องความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ ของประชาชน ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ซึ่งตรงนี้ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยด้วย"”
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยุโรปแล้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ยอมรับว่า สถานการณ์ยังถือว่าดีกว่า เพราะยังพอคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปนั้นแม้จะมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาที่มากขึ้น แต่มีเรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ซึ่งยากต่อการคาดการณ์ทิศทาง