xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มหุ้นไทย 4 หลักทรัพย์ในดัชนี MSCI

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


MSCI เพิ่มหุ้น AOT BGH CPN และ MAKRO ในการคำนวณดัชนี MSCI Global Standard Indices และ BAFS GOLD LOXLEY ROJNA SRICHA SITHAI SVI TK และ VIBHA ในการคำนวณดัชนี MSCI Small Cap Indices

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการทบทวน และประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนี MSCI โดยบริษัท MSCI Barra เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 พบหุ้นไทย 4 หลักทรัพย์ถูกเพิ่มเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Standard Indices โดยไม่มีหุ้นที่ถูกคัดออก ซึ่งทั้ง 4 หลักทรัพย์เป็นบริษัทที่อยู่ใน SET50 ทั้งหมด มี market capitalization รวมกัน 538,932 ล้านบาท คือ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) และ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) โดยจะทำให้มีหุ้นไทยที่คำนวณอยู่ในดัชนี MSCI Global Standard Indices รวมทั้งสิ้น 22 หลักทรัพย์

นอกจากนี้ ยังพบหุ้นไทยอีก 9 หลักทรัพย์ถูกเพิ่มเข้าคำนวณดัชนี MSCI Small Cap Indices และมี 5 หลักทรัพย์ที่ถูกคัดออก หลักทรัพย์ที่ถูกเพิ่มเข้าคำนวณ คือ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) บมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ (SITHAI) บมจ.ศรีราชาคอนสตรัคชั่น (SRICHA) บมจ.เอสวีไอ (SVI) บมจ. ฐิติกร (TK) และ บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) ส่วน 5 หลักทรัพย์ที่ถูกคัดออกคือ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) บมจ.ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน (ROBINS) และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE)

ทั้งนี้ ดัชนี MSCI หรือ MSCI Index เป็นดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ที่ถูกจัดทำขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัดผลตอบแทนในการลงทุน ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ผู้ลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะผู้จัดการกองทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้จัดการกองทุนที่มาลงทุนในประเทศไทยก็ใช้ดัชนี MSCI มาใช้วัดการลงทุนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การจัดทำดัชนี MSCI แต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นดัชนีระดับภูมิภาค หรือประเทศ หรือแบ่งตามอุตสาหกรรม ตามประเภทของตลาด หรือตามขนาดของหลักทรัพย์ บริษัท MSCI Barra ไม่ได้นำหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ทุกตัวเข้าไปคำนวณดัชนี แต่จะคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งจะมีเกณฑ์พิจารณาหลายอย่าง เช่น มูลค่าตลาดรวม สภาพคล่องการซื้อขาย จำนวนหุ้นที่ผู้ลงทุนต่างประเทศสามารถซื้อขายได้ เป็นต้น ซึ่งทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีจะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบันทั้งใน และต่างประเทศมาก เพราะต้องใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการปรับพอร์ต หรือเพิ่มการลงทุนตาม

“การที่หุ้นไทยถูกนำเข้าไปคำนวณดัชนี MSCI Global Standard Indices เพิ่มขึ้น จะช่วยผลักดันให้ผู้ลงทุนต่างประเทศเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งน้ำหนักของตลาดหุ้นไทยในดัชนี MSCI AC Asia ex Japan ปัจจุบันอยู่ที่ 2.93% เพิ่มขึ้นจากเมื่อต้นปีที่ 2.65% นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีสภาพคล่องมากขึ้นด้วย” นายจรัมพรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น