“กบข.-บลจ.” พร้อมร่วมมือ “ก.ล.ต.” ไม่ลงทุนในบริษัททุจริตคอร์รัปชัน กลุ่มผู้ลงทุนสถาบันเตรียมประกาศจุดยืนชัดเจนในความรับผิดชอบ ชี้หากพิจารณาดูแล้วบริษัทไหนเข้าข่ายเรื่องคอร์รัปชัน การทำไม่ถูกต้องตาม กม. ก็จะไม่เลือกเข้าไปลงทุน ซึ่งจะตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ต้องเลือกลงทุนในบริษัทที่ไม่มีปัญหา ยอมรับตัวบุคคลที่ทำความผิด ก็ถือเป็นความเสี่ยงเช่นกัน
น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข.มีนโยบายเรื่องการลงทุนในบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ชัดเจน ที่ผ่านมาการลงทุนของ กบข.นอกจากจะดูพื้นฐานของกิจการนั้นๆ เป็นหลักแล้ว กบข.ยังให้ความสำคัญของเรื่องธรรมาภิบาล เพราะประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งที่ยั่งยืน และจะทำให้บริษัทที่เข้าไปลงทุนเหล่านี้มีการเติบโตระยะยาว
“ปกติการลงทุนของ กบข.เรามองเรื่องความเสี่ยงเป็นสำคัญ ซึ่งบริษัทที่ กบข.เข้าไปลงทุน ปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงของบริษัทเหล่านี้ จะมีเรื่องการตลาด เรื่องการลงทุน ซึ่งทาง กบข. ในฐานะผู้ลงทุน เราสามารถมองความเสี่ยงเหล่านี้ออก และสามารถบริหารความเสี่ยงเรื่องนี้ได้ แต่เรื่องของคอร์รัปชันของบริษัทที่เข้าไปลงทุน ส่วนใหญ่ไม่อยากเจอ สิ่งเหล่านี้ทำให้บริหารความเสี่ยงยาก”
โดยปกติแล้ว นโยบายการลงทุนของ กบข. ในฐานะของผู้ลงทุนก็มีการกำหนดนโยบายชัดเจนเรื่องการต่อต้านบริษัทที่มีนโยบายไม่โปร่งใส หรือไม่มีธรรมาภิบาลอยู่แล้ว นอกจากนี้ กบข.ก็จะเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องนี้ขึ้นไปอีก โดยตั้งใจจะเข้าไปอยู่ในเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งจะให้เป็นนโยบายที่ชัดเจน โดยถือเป็นการป้องกันความเสี่ยงการลงทุนของ กบข.ด้วย
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของสถาบันการเงินรายหนึ่ง ยอมรับว่า ในเร็วๆ นี้ จะมีการรวมตัวกันของนักลงทุนสถาบัน ประกอบด้วย ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) จะประกาศความชัดเจนในฐานะนักลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อปัจจัยดังกล่าว
นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน ฝ่ายจัดการลงทุน บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในฐานะที่บริษัทมีกองทุนเปิดไทยบรรษัทภิบาลหุ้นระยะยาว ซึ่งเน้นลงทุนหุ้นที่มีธรรมาภิบาลเป็นกรณีพิเศษอยู่แล้ว หากพิจารณาดูแล้วบริษัทไหนเข้าข่ายเรื่องคอร์รัปชัน การทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายบริษัทจะไม่เลือกเข้าไปลงทุน ซึ่งบริษัทจะตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาในเรื่องนี้
ส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ขอความร่วมมือเกี่ยวกับการทุจริตโดยเอากรณีไร่ส้มนั้น บริษัทได้ตรวจสอบเรื่องนี้ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะในฐานะ บลจ.ที่มีประสบการณ์ ต้องตรวจสอบเต็มที่ในกองทุนที่เน้นลงทุนให้หุ้นบรรษัทภิบาลเช่นนี้
“ส่วนผู้จัดกองทุนได้ตรวจสอบ และคัดเลือกธุรกิจที่มีหลักธรรมาภิบาลอยู่แล้ว พยายามหลีกเลี่ยง ซึ่งบางครั้งช่วงแรกๆ บริษัทอาจไม่ทราบว่าบริษัทใดไม่เข้าข่าย หากตรวจสอบพบว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ก็จะถอนการลงทุนออกทันที เพราะหุ้นในตลาดมีกว่า 500 ตัว ต้องเลือกลงทุนในบริษัทที่ไม่มีปัญหา”
ด้านนายประเสริฐ ขนบธรรมชัย รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า การที่ ก.ล.ต.ขอความร่วมมือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต โดยเอากรณีของบริษัทไร่ส้ม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด เป็นการแสดงท่าทีชัดเจนในฐานะที่ ก.ล.ต.ต้องกำกับดูแลเรื่องธรรมาภิบาลบริษัทจดทะเบียน
ดังนั้น การทำธุรกิจอะไรก็ตาม ต้องตรงไปตรงมา ต้องประเมินทั้งระยะสั้น และระยะยาว ถ้าผิดจริงตามหลักธรรมาภิบาล ต้องพิจารณารอบคอบ หากเกี่ยวกับบุคคลก็เสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบให้แก่บริษัทได้เช่นกัน
ทั้งนี้ บริษัทเป็นนักลงทุนสถาบันที่มีประสบการณ์ไม่ได้อิงด้านใดด้านหนึ่ง สิ่งที่บริษัทพิจารณาดูคงเป็นเรื่องทิศทางความชัดเจน ซึ่งบริษัทติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะต้องดูผลระยะยาว ไม่ได้มองภาพระยะสั้นอย่างเดียว และต้องดูว่าบริษัทกับตัวบุคคลเกี่ยวโยงกันหรือไม่ด้วย