xs
xsm
sm
md
lg

เตือน “เอเชีย” เตรียมรับผลกระทบ “ศก.ยุโรป” ชะลอตัวรอบใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไอเอ็มเอฟ” เตือน “เอเชีย” เตรียมพร้อมรับมือพายุ ศก.ระลอกใหม่ หลังพบสัญญาณ “ศก.ยุโรป” ชะลอตัวรอบ 2 “บัณฑูร” ห่วงวิกฤตยุโรป-อเมริกาฉุดเศรษฐกิจไทย คาดปีหน้าจีดีพี 5% แนะจับตาเลือกตั้งสหรัฐฯ-จีน จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก แนะเอเชียต้องมีความร่วมมือทั้งด้านการค้า ผ่านการเปิด “เออีซี” ขณะที่ “แบงก์ชาติ” มั่นใจ ศก.ไทยปีนี้ยังโตได้ 5.7%

ในงานสัมมนา “อนาคตแห่งทศวรรษ : เอเชีย” วันนี้ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกทุกวันนี้เป็นไปตามระบบทุนนิยม จึงมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป (อียู) ขึ้น จึงทำเงินทุนไหลเข้าเอเชียจำนวนมาก เพราะอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียสูงกว่าทางยุโรป และอเมริกา

ขณะที่เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงด้วยจำนวนประชากรในเอเชียคิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรทั้งโลก และรายได้ประชาชาติของเอเชียคิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก และคาดว่าอีกครึ่งศตวรรษรายได้ประชาชาติของเอเชียจะขยายเป็นครึ่งหนึ่งของโลก กำลังซื้อของเอเชียจะสูงขึ้น ส่งผลให้เอเชียจะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกแทนชาติตะวันตกที่กำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤต

ดังนั้น เอเชียต้องมีความร่วมมือทั้งด้านการค้า โดยเฉพาะผ่านการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ซึ่งจะหนุนให้การค้าระหว่างเอเชียเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยปัจจุบัน มูลค่าการค้าเอเชียเพิ่มเป็น 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2550 ที่มีมูลค่าการค้า 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นว่าอัตราการเติบโตของการค้าระหว่างกันอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะยังมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศภายใต้กฎกติกาการค้า และภาษาที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน แต่เชื่อว่าเอเชียจะสดใสหากสามารถบริหารจัดการได้ดี ซึ่งมั่นใจเอเชียจะเป็นตัวดึงเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นขึ้น แต่ก็คาดว่าจีดีพีของไทยในปีหน้า จะเติบโตได้ประมาณ 5%

“เศรษฐกิจไทยในปีหน้าก็จะยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก เนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป และสหรัฐอเมริกาจะยังมีอยู่ ซึ่งจะมีผลต่อธุรกรรมทางการค้าไปทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่เติบโตชะลอตัวลงด้วย”

สำหรับการเปลี่ยนผู้นำของ 2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 อย่างสหรัฐฯ และจีนนั้น ในส่วนของสหรัฐฯ ก็คงต้องรอดูอีกไม่กี่วันว่าจะเปลี่ยนหรือไม่ แต่นโยบายที่จะต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่เห็นพ้องกันว่าต้องแก้ไข แต่วิธีการจะต่างกัน ซึ่งก็ต้องรอดูผล ขณะที่จีนนั้นต้องมีการเปลี่ยนตัวผู้นำแน่ แต่นโยบายหลักไม่เปลี่ยน สิ่งที่ต้องรอดูคือ มุมมองของผู้นำใหม่จะตีโจทย์ของโลกแตกต่างจากเดิมหรือไม่

“ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้เสี่ยงมากไปกว่าประเทศอื่นๆ เศรษฐกิจโลกไม่ดีก็แป้กด้วยกันทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวกัน ปัญหามันมีอยู่ตลอด เปลี่ยนไปทุกวัน ก็ต้องแก้กันไปทุกวัน ไม่มีวันจบ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครมองทะลุปรุโปร่งได้ 100% ในครั้งเดียว แต่นอกจากเรื่องเศรษฐกิจโลกแล้ว ประเทศไทยก็ยังมีการพัฒนาอีกในหลายๆด้าน เช่น กระจายความมั่งคง ซึ่งเป็นโจทย์ของทุกประเทศต้องแก้ การบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ยังไม่รวมถึงโครงสร้างด้านการศึกษาที่จะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ขณะที่นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน ส่วนมาตรการการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น ขณะที่ยุโรปจะยังชะลอตัวเพราะเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ส่วนเอเชีย โดยเฉพาะจีนเศรษฐกิจจะชะลอแต่ไม่น่าเป็นห่วง

ส่วนประเทศไทยนั้น จะได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจโลกทางด้านการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการส่งออกจะชะลอตัวลงเหลือเพียงร้อยละ 4.4 ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ เนื่องจากยังมีการบริโภคภายในประเทศ มีการจ้างงานสูง และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ดีอยู่ โดยจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.7 และปีหน้าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 ซึ่งชะลอลงเล็กน้อย เนื่องจากไม่มีเม็ดเงินฟื้นฟูน้ำท่วมแล้ว

ขณะที่นายหลุยส์ บรูเออร์ หัวหน้าคณะผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประจำประเทศไทย คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวลงเหลือร้อยละ 3.3 ในปีนี้ และในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จากความไม่สมดุลทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปอาจทำให้เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศเกิดการชะลอตัวรอบ 2 ได้ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลมายังเอเชียด้วยเช่นกัน ดังนั้น เอเชียจะต้องเตรียมรับมือให้เหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น