ตลาดอนุพันธ์ เปิดแผนปีหน้าเดินสายให้ความรู้นักลงทุนสถาบันในประเทศ-ต่างประเทศ หวังดันสัดส่วนการซื้อขายเพิ่มขึ้น เล็งเพิ่มจำนวนหุ้นอ้างอิงในสต๊อกฟิวเจอร์สมากขึ้น จากปัจจุบันมี 30 ตัว ปรับจำนวนสถานะการถือครองให้เหมาะสม พร้อมเจรจากับเวนเดอร์พัฒนาโปรแกรมเทรดออปชันที่ไต้หวันนำมาใช้ในตลาดอนุพันธ์ไทยเพื่อให้นักลงทุนมีความเข้าใจ-เจรจาหาผู้ทำหน้าที่มาร์เกตเมกเกอร์ ออปชัน หวังดันวอลุ่มเทรดมากขึ้น จากปัจจุบันมีเพียง 236 สัญญาต่อวัน
นางเกศรา มัญชุศรี ผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX เปิดเผยว่า ตลาดอนุพันธ์ฯ มีแผนปีหน้าที่จะมีการเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศ และต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในตลาดอนุพันธ์มากขึ้น โดยในส่วนของนักลงทุนสถาบันในประเทศนั้น ทางตลาดอนุพันธ์จะมีการเดินสายให้ความรู้เรื่องการใช้สินค้าในตลาดอนุพันธ์ในการบริหารพอร์ตการลงทุนมากขึ้น
สำหรับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศนั้น ตลาดอนุพันธ์ฯ จะมีการเดินทางไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) แก่กองทุนต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง เพราะ 2 ประเทศนี้นั้นถือว่าเป็นศูนย์รวมของกองทุนทั่วโลกแล้ว ตลาดอนุพันธ์ คาดว่าสัดส่วนของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ สถาบันในประเทศ และการซื้อขายของผู้ดูแลสภาพคล่อง (มาร์เกตเมกเกอร์) อยู่ที่ 50% จากปัจจุบันที่ 40-45% เพื่อที่ให้โครงสร้างการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์เหมาะสม ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนรายย่อยปัจจุบันอยู่ที่ 55-60% โดยการเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันขึ้นอีก 5% นั้นถือว่าไม่ง่าย
นอกจากนี้ ในปีหน้าตลาดอนุพันธ์จะมีการเพิ่มจำนวนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาหุ้น (สต๊อกฟิวเจอร์ส) จากปัจจุบันที่มีจำนวนหุ้นอ้างอิง 11 ตัว และจะมีการเพิ่มจำนวนการถือครองสัญญาสต๊อกฟิวเจอร์ส ที่จำกัดที่จำนวน 20,000 สัญญา ให้เหมาะสมกับหุ้นที่มีการอ้างอิง และตลาดอนุพันธ์ฯ ก็จะมีการเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับการซื้อขายออปชันมากขึ้น หลังจากที่มีการปรับสัญญาซื้อขาย SET50 ออปชันใหม่ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้
ทั้งนี้ ทางตลาดอนุพันธ์ฯ กำลังให้ทางบริษัท เซ็ท เทรดฯ มีการเจรจากับผู้พัฒนาโปรแกรมการซื้อขายออปชันในประเทศไต้หวันเพื่อนำมาใช้ เพราะเป็นโปรแกรมที่ช่วยในเรื่องการตัดสินใจการลงทุนทำให้นักลงทุนสามารถเข้าใจ และซื้อขายออปชันมากขึ้น และตลาดอนุพันธ์ฯ จะมีการเจรจากับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เข้ามาเป็นมาร์เกตเมกเกอร์ใน SET 50 ออปชัน เพื่อที่จะทำให้มีมูลค่าการซื้อขายมากขึ้น ปัจจุบันที่มีจำนวนการซื้อขายเพียง 236 สัญญาต่อวัน
นางเกศรา กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายตลาดอนุพันธ์ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ 4.4 หมื่นสัญญาต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนที่ 4.1 หมื่นสัญญาต่อวัน ขณะที่ตลาดอนุพันธ์ต่างประเทศ ยกเว้นตลาดอนุพันธ์ละตินอเมริกา มีการปรับตัวลดลง 9-11% เนื่องจากมีกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลการซื้อขายมากขึ้นทำให้มูลค่าการซื้อขายลดลง เช่น ไต้หวันปี 54 อยู่ที่ 125 ล้านสัญญา โดย 8 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 70 ล้านสัญญา
สำหรับในช่วงที่เหลือปีนี้ เชื่อว่าภาวะการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ยังดีอยู่ โดยสินค้าที่จะมีการซื้อขายมากคือ สต๊อกฟิวเจอร์ส ที่จะเป็นตัวนำจากที่ภาวะตลาดหุ้นไทยดี ทำให้หุ้นรายตัวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วน SET 50 ฟิวเจอร์ส มูลค่าการซื้อขายน่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอ้างอิงทองคำ (โกลด์ฟิวเจอร์ส) เชื่อว่าจะมีการซื้อขายมากขึ้นจากราคาทองจะมีความผันผวน ส่วนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอ้างอิงน้ำมัน (ออยล์ฟิวเจอร์ส) นั้นมีนักลงทุนรายย่อยเข้ามาซื้อขายมากขึ้น ปัจจุบันมีการซื้อขายที่ 500-800 สัญญาต่อวัน จากต้นปีที่ 200-300 สัญญาต่อวัน
“จากการที่ตลาดอนุพันธ์มีการเพิ่มสินค้าใหม่ คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอ้างอิงดัชนีราคารายหมวดธุรกิจ (SECTOR INDEX) 5 หมวด คือ พลังงาน ไอซีที อาหาร ธนาคารพาณิชย์ และพาณิชย์ ในวันที่ 29 ตุลาคม นี้แล้ว นั้นเชื่อว่าจะมี บลจ.นำดัชนีกลุ่มดังกล่าวไปออกสินค้าอื่นๆ มากขึ้น โดยในเดือน พ.ย.นี้ จะมี บลจ.ตั้งกองทุนอีทีเอฟหุ้นกลุ่มธนาคารเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์” นางเกศรกล่าว