“อดีต รมว.คลัง” ชื่นชม “ครม.ปู” เคาะยืดเวลาเก็บ VAT อัตรา 7% ออกไป 2 ปี เชื่อเป็นจังหวะ และโอกาสที่ดี เพื่อใช้นโยบายการคลังกระตุ้น ศก. ช่วงที่ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ขณะที่ รบ. เล็งเก็บแบบขั้นได คาดดีเดย์ 1 ต.ค.57 อัตรา 9% ส่วนการยกเว้นภาษีหวยออนไลน์แบบ 3 ตัว และ 2 ตัว ยังไม่กล้าเคาะ
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 สิงหาคม 2555 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือนกันยายน 2555 เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะถือเป็นการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ซึ่งจะส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยได้
ด้านน.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุม ครม. วันนี้ มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอที่กระทรวงการคลังให้ขยายเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% ออกไปอีก 2 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 และจะมีการจัดเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นอัตรา 9% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เนื่องจาก ครม.เห็นว่า ประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554-2555 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเมื่อเทียบกับปี 2553 มีอัตราการเติบโตลดลงจาก 7.8% เหลือ 0.1% ส่งผลต่ออัตราการบริโภค การลงทุน การส่งออก และการนำเข้าลดลงด้วย จึงให้คงภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% เพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อในการจับจ่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น หลังจากประสบอุทกภัย และเพื่อให้การบริโภค และการลงทุนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ อันจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และมั่นคงต่อไป
สำหรับการพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้จากการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว สำหรับเงินได้ตั้งแต่ พ.ศ.2546-2549 ในช่วงจำหน่ายหวยบนดินนั้น ที่ประชุม ครม.ได้สั่งให้กระทรวงการคลังกลับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนที่จะเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง
ส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการขาย หรือส่วนลดจากการซื้อสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายของสำนักงานสลากฯ ให้ศึกษาเพิ่มเติมให้ชัดเจนเช่นกัน
นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบในการปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอมา โดยมอบหมายให้มีการค้ำประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยธนาคารออมสิน ดังนี้
1.กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ที่ประกอบธุรกิจทุกประเภทที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือเป็น SMEs ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยจะต้องมียอดคำสั่งซื้อ หรือยอดขายกับ SMEs ในพื้นที่ประสบอุทกภัยไม่น้อยกว่า 25% โดยธนาคารจะต้องเป็นผู้รับรอง และยืนยัน
2.วงเงินค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดทุกประเภท รวมกันไม่เกิน 30% หรือ 30 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน จากเกณฑ์เดิมที่ให้วงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย และ 3.ระยะเวลารับคำขอภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556