ธอส.เผยยอดขอสินเชื่อโครงการบ้านหลังแรก 0% นาน 3 ปี ยื่นเข้ามาเพียง 4 พันล้านบาท เชื่อคลังไม่ต่ออายุโครงการออกไปอีก ชี้หากขยายวงเงินเป็น 2 ล้านบาท อาจซ้ำซ้อนกับโครงการคืนภาษี ยันแม้จะปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่ไม่กระทบผลการดำเนินงานมากนัก
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า โครงบ้านหลังแรก 0% นาน 3 ปี สำหรับผู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ที่เปิดให้ยื่นคำขอตั้งแต่ 11 ต.ค.2554 มีกำหนดสิ้นสุดยื่นคำขอถึง 30 ก.ย.2555 ต้องทำนิติกรรมให้จบภายในวันที่ 31 ธ.ค.2555 นี้ ทางกระทรวงการคลังยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะต่ออายุมาตรการ หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหรือไม่ โดยมองว่า อาจจะให้หมดระยะเวลาไปตามเดิม และหากจะมีโครงการใหม่ออกมาก็สามารถเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้า ซึ่งกระทรวงการคลังต้องชดเชยภาระดอกเบี้ยให้เหมือนโครงการที่ผ่านๆ มา
ทั้งนี้ ยอมรับว่า การปล่อยกู้บ้านหลังแรกยังดำเนินการไม่ได้มากนัก โดยล่าสุด ธอส. ปล่อยไปได้เพียง 4 พันล้านบาท จากวงเงินเป้าหมาย 2 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อสอดคล้องกับข้อมูลของบ้านที่สร้างเสร็จ และมีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาททั่วประเทศขณะนี้ที่มีประมาณ 1.2 หมื่นยูนิต มูลค่าประมาณ 7-8 พันล้านบาท แม้จะปล่อยได้ทั้งหมดก็ยังไม่เต็มวงเงิน เพราะมีเงื่อนไขต้องเป็นบ้านหลังแรกด้วย ทำให้ผู้มีสิทธิเข้าโครงการยิ่งลดจำนวนลง
“เข้าใจว่า กระทรวงการคลังคงไม่ต่ออายุมาตรการบ้านหลังแรกในเงื่อนไขเดิมราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทออกไป หากจบโครงการปีหน้า ก็สามารถทำโครงการใหม่ภายใต้เงื่อนไขใหม่ได้ซึ่งคงขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง” นายวรวิทย์ กล่าวและว่า หากปรับเงื่อนไขราคาบ้านเป็น 2 ล้านบาท แม้จำทำให้มีโครงการเข้าข่ายมากขึ้นเป็น 6 หมื่นยูนิต แต่มองว่าจะไปซ้ำซ้อนกับมาตรการคืนภาษีบ้านหลังแรกของกรมสรรพากร ซึ่งไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ในการช่วยผู้มีรายได้น้อยให้มีบ้านหลังแรก
สำหรับการปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย คงที่ 3% ระยะเวลา 5 ปี ในส่วนของวงเงินแรก 9 พันล้านบาท ขณะนี้ อนุมัติไปแล้วกว่า 4 พันล้านบาท โดยพบว่า มีลูกค้าบางส่วนที่ใช้สิทธิ 0% นาน 6 เดือน 9 เดือนที่เพิ่งได้รับอนุมัติ หรือที่ยังไม่ถึงกำหนดพ้นระยะเวลาถูกคิดค่าปรับหากรีไฟแนนซ์ก่อนกำหนด ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้รับประโยชน์จากการผ่อนผันค่างวดช่วงน้ำท่วม 3-6 เดือนยื่นเข้าโครงการประมาณพันราย ซึ่งเดิมจะให้กลุ่มนี้มาทำสัญญาใหม่เปลี่ยนเป็นการกู้ตามดอกเบี้ยปกติก่อนจะรีไฟแนนซ์ แต่เห็นว่าอาจยุ่งยาก และควรให้สิทธิคนกลุ่มนี้ด้วยจึงอาจให้เข้าตามโครงการใหม่ 3% 5 ปี หลังทำสัญญาใหม่เลยเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้า
ส่วนการขออนุมัติวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีก จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท และธนาคารสมทบวงเงินอีก 6 พันล้านบาทนั้น ขณะนี้ รอให้กระทรวงการคลังเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.จากนั้นน่าจะดำเนินการได้ทันที เพราะมีความต้องการขอสินเชื่อรออยู่แล้วทั้งลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารจะดำเนินโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำหลายโครงการ แต่ยังไม่พบว่ามีผลกระทบกับผลการดำเนินงานของธนาคารแต่อย่างใด โดยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ธอส.มีกำไรแล้วประมาณ 3.6 พันล้านบาท ยังไม่รวมกับการสำรองเงิน 0.47% อีกเดือนละ 300 ล้านบาท รวม 4 เดือน ตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมา เป็นเงิน 1.2 พันล้านบาท จึงเชื่อว่าทั้งปีจะมีกำไรประมาณ 7 พันล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้