xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. ห่วง ศก.โลก ป่วนทุนสำรองฯ แฉมหาอำนาจเริ่มใช้วิชามาร แนะทางรอดเชื่อมภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าฯ ธปท. เผยวิกฤตยูโรกระทบผลตอบแทนเงินฝากยูโรของทุนสำรองฯ เพราะไปฝากไว้ที่ธนาคาร BIS ติดลบ แถมยังต้องเสียค่าธรรมเนียมการฝากเงินอีก ระบุ ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะมี ศก. แบบเปิด เชื่อมโยงกับ ศก.โลก แนะทางออก ไทยต้องสร้างความสมดุล และเชื่อมภูมิภาคกันมากขึ้น เพื่อรอดจากวิกฤตในรอบนี้ หลังพบ “ยุโรป-สหรัฐฯ” ใช้มาตรการ “นอกตำรา” พิมพ์แบงก์โดยไม่คำนึงถึงปัญหา ขณะที่ “ไอเอ็มเอฟ” มั่นใจ ศก.เอเชีย จะเติบโตได้อีก เร่งเตรียมแผนรองรับผลกระทบ พร้อมนำ ปชช. มีส่วนร่วมสร้างความแข็งแกร่ง

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา Thailand ADB-IMF Conference ในหัวข้อ Stability and Inclusive Growth โดยยอมรับว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และทำให้ ธปท.มีปัญหาเรื่องการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นเงินสกุลยูโรปฝากไว้ที่ธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (BIS) เนื่องจากขณะนี้ ผลตอบแทนที่ออกมาติดลบ เพราะนอกจากจะได้อัตราผลตอบแทนในระดับต่ำแล้ว ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมการฝากเงินอีก แต่ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องถือรองรับไว้ เพราะการค้าการลงทุนของประเทศไทย ยังคงมีการเชื่อมต่อกับสหภาพยุโรป

“สำหรับสิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ คือ หากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายทางการเงินด้วยการผลิตแบงก์ออกสู่ระบบ อาจทำให้สหภาพยุโรปทำลักษณะเดียวกัน จนในขณะนี้ ประเทศขนาดใหญ่ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยการพิมพ์ธนบัตร ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีสกุลเงินยูโรเอาไว้รองรับการแลกเปลี่ยน เพื่อรองรับการค้าการลงทุนกับต่างชาติ ที่จำเป็นต้องใช้เงินสกุลยูโร”

นายประสาร กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจไทยเป็นแบบเปิดที่มีความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้ได้รับผลกระทบเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างกรณีที่สหรัฐฯ ออกมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย ดังนั้น ประเทศในภูมิภาคเอเชียควรมีความร่วมมือกันเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น

“เศรษฐกิจไทยนอกจากเล็ก และเปิดเสรีแล้ว จะมีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ต้องสร้างความสมดุล และต้องเชื่อมกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อาเซียนต้องหามาตรการรองรับเพิ่มเติม เพราะตะวันตกวันนี้ หันมาใช้มาตรการนอกตำราจนเป็นปกติไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย”

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายต่างๆ ในฐานะเป็นธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงเรื่องความเสี่ยงแล้ว ยังต้องดูเรื่องผลตอบแทนที่จะได้รับ อัตราการเจริญเติบโต และเสถียรภาพไปพร้อมๆ กันด้วย โดยแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ การสร้างความเป็นธรรมเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม การส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อดูแลให้อัตราการเจริญเติบโตของประเทศมีความยั่งยืนในอนาคต

นายประสาร ยังกล่าวถึงผลการประชุมหารือระหว่างธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยระบุว่า ที่ประชุมได้วิตกความเสี่ยงระบบเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจกลุ่มยุโรป แต่ยังเชื่อว่า พื้นฐานเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียมีความแตกต่างจากยุโรป

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟมองว่าเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียมีโอกาสที่จะเติบโตได้ตามศักยภาพของแต่ละประเทศ และยอมรับว่า ปัญหาของยุโรปส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจบางประเทศ ซึ่งได้เตรียมรับปัญหาไว้แล้ว โดยได้ประสานงานกับกลุ่ม จี20 และประเทศสมาชิก ให้เตรียมความพร้อมตามความเหมาะสม

ไอเอ็มเอฟยังระบุว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะมีปัญหา แต่เศรษฐกิจเอเชียยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ส่วนเศรษฐกิจเอเชียจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกได้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ แต่พยายามให้มีการกระจายการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งภูมิภาค โดยจะให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น โดยสร้างความรู้ ความคิดทางด้านการเงินที่ดี เพื่อสนับสนุนระบบการเงินให้มีความแข็งแรง รวมทั้งการบริโภคที่เหมาะสม เพื่อกระจายรายได้ของประชาชน และรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น