xs
xsm
sm
md
lg

GUNKUL รุกยื่นประมูลงานกว่า 4 พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” เชื่อทั้งปีรายได้ 4.3 พันล้านบาท รุกยื่นประมูลครึ่งปีหลังอีก 4 พันล้าน ล่าสุด ลุยเทกโอเวอร์บริษัทพลังงานลมที่ห้วยบง พร้อมเดินหน้าหาผู้ร่วมทุน และขอเป็นผู้ร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในพม่า และลาว

น.ส.โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยว่า เป้ารายได้รวมปีนี้ที่ตั้งไว้ 4.3 พันล้านบาท หรือเติบโต 50-60% จากปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นไปตามที่วางไว้ โดยแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจหลัก จำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า 70% และมาจากโครงการพลังงานทดแทนอีก 30% ซึ่งในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนซึ่งมีรายได้ 1 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังมี Backlog อยู่อีก 1 พันล้านบาท ที่จะรับรู้ทั้งหมดภายในปีนี้

ภาพรวมครึ่งปีหลัง GUNKUL จะยื่นประมูลโครงการรวมประมาณ 4 พันล้านบาท ซึ่งมีทั้งโครงการภาครัฐ โครงการเคเบิลใต้น้ำ โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้า โดยคาดว่าในไตรมาส 4 จะได้รับงานที่ยื่นประมูลอย่างน้อย 1 โครงการ

ล่าสุด บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัท พัฒนาพลังงานลม ในสัดส่วน 70% เพื่อดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 60 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยประเมินว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าโซลาร์เซลล์ เนื่องจากทำงานได้ตลอด 24 ชม. ทำให้โอกาสในการคืนทุนเร็วขึ้น ซึ่งการลงทุนในโครงการ มีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งให้การสนับสนุน คาดว่าจะเริ่มดำเรินการก่อสร้างได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ และเริ่มทยอยรับรู้รายได้ในปีหน้า โดยกลางปี 2558 จะรับรู้รายได้จากโครงการทั้งหมด

ขณะเดียวกัน บริษัทตั้งเป้าถือหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีอยู่จำนวน 57 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างเจรจาขอซื้อใบอนุญาต ซึ่งมีค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) ในอัตรา 6.50-8.00 บาท คาดว่าสรุปปีนี้ นอกจากนี้ GUNKUL จะรับรู้กำไรจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในปีนี้ประมาณ 34 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่า 200 ล้านบาท และจะปรับเพิ่มเป็น 570 ล้านบาทในปี 2556 จากกำลังการผลิต 57 เมกะวัตต์ จะทำให้มีกำไรเพิ่มเป็น 570 ล้านบาท

น.ส.โศภชา กล่าวถึงการลงทุนในต่างประเทศของ GUNKUL ว่า สำหรับโครงการในพม่า นอกเหนือจากโครงการพลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ และเพื่อให้การจ่ายไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ ตอนนี้บริษัทกำลังเจรจาผู้ร่วมทุนอีก 1 ราย เพื่อเข้าร่วมลงทุนดำเนินโครงการพลังงานอื่น เช่น พลังงานจากเขื่อน โรงไฟฟ้าจากถ่านหิน โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงเพื่อจะพัฒนาร่วมไปกับโครงการพลังงานลม ส่วนเป้าหมายของบริษัทในท้ายที่สุด โครงการทั้งหมดจะถูกขายให้แก่ผู้สนใจเข้าร่วมลงทุน และบริษัทจะเหลือการถือหุ้นอยู่เพียง 25% ขณะที่ในลาว บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาซื้อใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นเอกชนของไทยที่ได้รับสัปทานในการผลิตขนาด 400-600 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น