xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้แนวโน้ม ดบ.ไทยยังไม่ใช่ขาลง พร้อมการันตี ศก.ไทย แข็งแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (แฟ้มภาพ)
ธปท.ชี้แนวโน้ม ดบ.ไทย-เอชีย ไม่จำเป็นต้อง "ขาลง" ทิศทางเดียวกับ ศก.โลก แต่ควรกำหนดให้เหมาะสม เพราะมีวัฏจักรที่แตกต่างจากประเทศตะวันตก พร้อมย้ำ ศก.ไทยแกร่ง หลังรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินฟื้นฟูหลังน้ำท่วม แม้ภาคการส่งออกอาจจะยังได้รับความเสี่ยงจากวิกฤต ศก.ยุโรป ยันจับตาใกล้ชิด

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงปาถกฐาในหัวข้อ “วิกฤตระบบการเงิน และอนาคตของธนาคารพาณิชย์ของโลกกับเอเชียจะไปอย่างไร” (Financial Crises-the Future of Global & Asian Banking) ในงาน “Asia in Transformation, Sasin Bangkok Forum 2012” โดยมองว่า ถึงทิศทางดอกเบี้ยของโลกจะมีแนวโน้มลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ประเทศในฝั่งตะวันตกมีปัญหา ทำให้นำนโยบายการเงิน หรือดอกเบี้ยมาช่วยกระตุ้น และดูแลเศรษฐกิจ แต่ในส่วนของเศรษฐกิจไทย และเอเชียมีวัฏจักรที่แตกต่างจากประเทศตะวันตก เนื่องจากเศรษฐกิจเรายังสามารถขยายตัวได้ ฉะนั้น ดอกเบี้ยต้องดูไปตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจเราเอง

“ถึงแนวโน้มดอกเบี้ยโลกจะลดลง เพราะเขาต้องใช้นโยบายการเงินมาช่วยดูแลเศรษฐกิจของประเทศเขา เนื่องจากเขาไม่มีกระสุน หรือนโยบายการคลังแล้ว เขาใช้ไปหมดแล้ว ไม่มีเงินจากนโยบายคลังมาใช้ จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงิน หรือดอกเบี้ยมาช่วย แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ เหล่านั้น ต่างจากวัฏจักรเศรษฐกิจของเรา เพราะเศรษฐกิจเรายังมีเสถียรภาพ ยังขยายตัวได้ และศักยภาพการคลังก็ยังดี ฉะนั้น ในส่วนของดอกเบี้ยเราก็ต้องดูให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจของเราเอง”

ด้านนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ยังคงมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากได้รับเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงหลังอุทกภัย โดยฟื้นตัวเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ทั้งภาคการผลิต และการบริโภคภายในประเทศ แม้การส่งออกอาจจะยังได้รับความเสี่ยงจากวิกฤตในเศรษฐกิจยุโรป แต่เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก

ส่วนในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงทาง ธปท.นั้น ขณะนี้ ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอก อย่างวิกฤตเศรษฐกิจโลก และติดตามดูว่าจะมีผลต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยมากน้อยเพียงใด ฐานะทางการเงิน และทางการคลังมีความเหมาะสมอยู่หรือไม่ และสถานการณ์ทางการเมืองจะมีผลกระทบต่อการบริหารนโยบายการเงินของ ธปท. หรือไม่ เพราะทุกวันนี้ ไม่สามารถบริหารความเสี่ยงทุกๆ ด้านอย่างแม่นยำ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในขณะนี้มีความผันผวนมาก จึงต้องติดตามสถานการณ์ทุกอย่างอย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น