สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในการจัดสัมมนาโค้งสุดท้ายสู่ AEC ครั้งที่ 1 เผยนักลงทุนไทยตื่นตัวเข้ารับฟัง ก.ล.ต.และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน และการลงทุน แนะนำกลยุทธ์ด้านการลงทุนเพื่อรับมือ AEC เตือนผู้ประกอบการต้องรวมตัวกันเพื่อแสวงหาโอกาสก่อนที่จะสูญเสียโอกาส เนื่องจากเพื่อนบ้านทั้งลาว พม่า และกัมพูชากำลังเร่งศึกษาตลาดไทย
ผศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาด และประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การจัดสัมมนาโค้งสุดท้าย AEC ครั้งที่ 1 เรื่อง Free Flow of Investment ได้รับความสนใจจากประชาชนและนักลงทุนเป็นอย่างดี เนื่องจากได้จัดให้มีการบรรยายในหัวข้อ “Creative Investment in the age of AEC” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต.และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ มาให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่จะถึงอีกไม่นานนี้ ประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้ให้ความสำคัญ และมีความตื่นตัวที่จะศึกษาและเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุน เห็นได้จากมีนักลงทุนทั้งจากประเทศลาวได้เดินทางมาศึกษาและดูงานด้านการลงทุนในตลาดทุนไทย พร้อมทั้งได้เชิญนักลงทุนไทยไปเยี่ยมชมประเทศลาว เพื่อให้เกิดความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจและตลาดทุน นอกจากนี้แล้ว ประเทศกัมพูชาก็ได้ให้ความสนใจเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากคณะผู้นำของตลาดทุนและคณะกรรมการ ก.ล.ต. ของกัมพูชา ได้เข้ามาขอฝึกงานที่ ก.ล.ต.ของไทยเพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดด้านการเงิน และตลาดทุนในอาเซียน
ไม่ใช่เฉพาะแค่ลาว และกัมพูชาเท่านั้น ที่นักลงทุนและผู้ประกอบการไทยจะต้องจับตาดูเป็นพิเศษ แต่พม่าที่กำลังเปิดประเทศ และได้รับความสนใจจากตลาดทุนทั่วโลก ซึ่งไทยเราต้องให้ความสำคัญ และไม่ควรมองข้าม ทั้งยังต้องศึกษาเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีทรัพยากรจำนวนมาก รวมทั้งมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่น่าสนใจ ดังนั้น ประชาชน และผู้ประกอบการในประเทศไทยจะต้องเร่งศึกษาประเทศอื่นๆ และพัฒนาศักยภาพของธุรกิจเพื่อเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดในอนาคต
ผศ.ดร.กฤษติกา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจต่างๆ ของไทยจะต้องค้นหาจุดอ่อนเพื่อป้องกันมิให้เกิดความอ่อนแอในสมรภูมิที่มีการแข่งขันหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไม่ใช่เฉพาะตลาดในกรุงเทพมหานครเท่านั้น ที่จะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดเสรี แต่ในไม่ช้านี้ ทุกจังหวัดของไทยก็จะมีสินค้า และบริการของเพื่อนบ้านมาแข่งขันอย่างแน่นอน เห็นได้จากที่ผ่านมาหัวเมืองใหญ่ๆ ในทุกภูมิภาคของประเทศไทยก็ถูกบุกรุกโดยผลิตภัณฑ์ของเพื่อนบ้านอยู่แล้ว เชื่อว่าหลังจากที่เปิด AEC พฤติกรรมการบริโภคสินค้าของประชาชนไทยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน
ดังนั้น ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการทำงาน เช่น ธุรกิจที่มีความใกล้เคียงกันจะต้องร่วมมือกันมากขึ้น และต้องหันมาคุยกันมากขึ้นว่าจะเดินไปในทิศทางใด และจะรับมือกับการแข่งขันในรูปแบบใด การเดินแบบโดดเดี่ยวจะเสี่ยงกว่าการเดินร่วมกับพันธมิตรหรือไม่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่จะต้องมีการระดมสมอง เพราะการเปิดเสรีด้านการลงทุนจะทำให้เกิดโอกาสในการขยายตลาด ในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้สูญเสียโอกาสหากไม่มีความพร้อมที่ดีพอ สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ จึงได้จัดโปรแกรมสัมมนาเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน และธุรกิจต่างๆ เข้ารับฟัง และนำความรู้ไปพัฒนาเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดในอนาคต
โดยครั้งต่อไป จะจัดสัมมนาฟรีในหัวข้อ Product & Brand ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 นี้ รวมทั้งจะจัดสัมมนาในหัวข้อ “เรื่องการให้บริการ การพัฒนาบุคลากร และเรื่องการเงิน” ในโอกาสต่อไป