ASTV ผู้จัดการรายวัน - สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลวิจัยชี้ชัดนักลงทุนในกองทุนเปิดทองคำของไทยมีความเสี่ยงสูง ระบุมีช่องโหว่จากการอ้างอิงราคากองทุนทองคำสิงคโปร์ (SPDR GLD 10US$) แนะก.ล.ต.รักษาผลประโยชน์นักลงทุนทองคำในไทย เผยหากราคายังถูกบิดเบือนได้ง่ายจะทำให้การดำเนินงานของกองทุนโดยรวมตกต่ำและสร้างความเสียหายแก่ผู้ลงทุนทุกคน เตรียมจัดสัมมนาฟรี “กองทุนใดไร้ความเสี่ยงและเร่งรักษาผลประโยชน์นักลงทุนไทย)
ผศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีกองทุนเปิดทองคำในไทยทั้งแบบสำรองเลี้ยงชีพ(RMF)และแบบปกติ นำเงินกองทุนไปลงทุนในกองทุน ETF ทองคำที่สิงคโปร์ จากการวิจัยของสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ แห่งจุฬาฯ พบว่าที่ผ่านมานักลงทุนในกองทุนเปิดทองคำของไทย ได้เผชิญกับปัญหาเรื่องความไม่ยุติธรรมต่อผู้ที่ซื้อขายหน่วยลงทุน เนื่องจากมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดกำไรแบบไร้ความเสี่ยง (arbitrage) โดยเฉพาะถ้ากองทุนเปิดทองคำในไทยกองใดมีกลุ่มคนที่คอยทำกำไร ก็สามารถดำเนินการทำให้ราคาปิดจากตลาดสิงคโปร์สูงแบบผิดปรกติ ส่งผลให้การดำเนินงานของกองทุนโดยรวมตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่ผู้ลงทุน ปัญหานี้เกิดจากการที่กองทุนเปิดทองคำในไทยใช้ราคาที่ถูกบิดเบือนมากำหนดราคาซื้อขายหน่วยลงทุน
ทั้งนี้ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงวีธีการกำหนดราคาซื้อขายของกองทุนเปิดทองคำจาก บลจ. ต่างๆ นักลงทุนก็ยังไม่ควรลงทุนในกองทุนเปิดทองคำที่อ้างอิงกับราคาปิดของกองทุนทองคำสิงคโปร์ เพราะมีความเสี่ยงของราคาที่ผิดปกติ หรืออาจได้รับความเสียหายถ้ามีกลุ่มนักทำราคาดำเนินการอยู่
ในเรื่องเดียวกันนี้ ดร.ชนวีร์ สุภัทรเกียรติ นักวิจัยและอาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ในฐานะผู้วิจัยและค้นพบช่องโหว่จากการอ้างอิงราคาปิดของกองทุนทองคำในประเทศสิงคโปร์ เปิดเผยถึงราคาซื้อขายของกองทุนทองคำสิงคโปร์ (SPDR GLD 10US$) ในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมาว่า ตลอดทั้งวันการซื้อขายอยู่ในช่วง $151- $152 จนตลาดปิด แต่ราคาปิดของวันดังกล่าวกลับก้าวกระโดดไปอยู่ที่ $165.99 เมื่อตรวจสอบไปที่ตลาดทองคำโลก (London และHong Kong) พบว่าไม่มีการกระโดดของราคาในลักษณะนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น และเมื่อตรวจสอบไปที่กองทุนทองคำสิงคโปร์ทางบริษัทจัดการของกองทุนได้แจ้งว่าราคาชี้แนะตามมูลค่ากองทุน (indicative price) ณ เวลานั้นคือ $151.694 ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณจากปริมาณทองคำที่กองทุนถืออยู่และราคาทองคำที่ซื้อขายกันในตลาดทองคำโลก (gold spot market) เพื่อใช้เป็นตัวบอกถึงมูลค่าของกองทุน ณ ขณะนั้น และทางบริษัทจัดการก็ยอมรับว่าราคาปิดดังกล่าวสูงเกินราคาชี้แนะตามมูลค่ากองทุนไปถึง 9.42%
“หากผู้ลงทุนในกองทุนเปิดทองคำทั้งแบบสำรองเลี้ยงชีพ(RMF)และแบบปกติ ไปเอาราคาปิดที่สูงผิดปกติจากสิงคโปร์ มาใช้กำหนดมูลค่าของหน่วยลงทุนในไทย หรือ Net Asset Value (NAV) จึงทำให้ผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนทองคำวันนั้นซื้อในราคาที่สูงเกินไป 9.42% ในขณะที่ผู้ที่ขายวันนั้นก็ได้ราคาที่ดีกว่าปกติถึง 9.42% เช่นกัน ปัจจุบันมีกองทุนเปิดของไทยหลายแห่งที่อ้างอิงราคากองทุนทองคำสิงคโปร์ (SPDR GLD 10US$) และเอาราคาที่ผิดปกตินั้นมากำหนดราคาซื้อขายของหน่วยลงทุน” ดร.ชนวีร์กล่าวและเปิดเผยเพิ่มเติมว่า การอ้างอิงราคาที่สูงเกินไปทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมต่อผู้ซื้อขายหน่วยลงทุน และมีความเสี่ยงที่ซื้อในราคาสูงกว่าราคาตลาดหรือขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด
นอกจากนี้แล้วปัญหาดังกล่าวยังเป็นช่องโหว่ให้มีการทำกำไรโดยไม่มีความเสี่ยง (arbitrage) อาจมีคนบางกลุ่มใช้เงินทุ่มซื้อเพื่อทำราคาปิดให้สูงในช่วงปิดตลาดอย่างจงใจ เพื่อให้กลุ่มตนเองสามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดทองคำในไทยได้ในราคาที่ต่ำเกินจริงหรือขายในราคาที่สูงเกินจริง ทั้งนี้ สาเหตุของปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่กองทุนเปิดทองคำในไทยอ้างอิงราคาปิดของตลาดในสิงคโปร์ที่สามารถถูกบิดเบือน (manipulate) ได้ง่าย มากำหนดเป็นมูลค่าราคาซื้อขายหน่วยลงทุน
อย่างไรก็ตาม แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดที่สุดก็คือ การเปลี่ยนมาใช้ตัวเลขอื่นที่ไม่สามารถถูกบิดเบือนได้ง่าย เช่น เปลี่ยนมาใช้ราคาเฉลี่ยในช่วง 15-30 นาทีสุดท้ายแทน หรือใช้ราคาชี้แนะตามมูลค่าลงทุน indicative NAV ของกองทุนทองคำสิงคโปร์แทน รวมทั้งใช้ราคาที่เป็นดัชนีคำนวณจากราคาทองคำจากต่าง ๆ ตลาดทั่วโลก
ขณะนี้สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งขณะนี้ทาง ก.ล.ต. และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กำลังพิจารณาออกมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่สิ่งที่น่าสนใจจากนี้ไปก็คือ จะมีมาตรการใดที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน ที่สำคัญนักลงทุนควรทำอย่างไรหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกำหนดราคาที่ใช้อ้างอิง และมีกองทุนใดในประเทศไทยบ้างที่อ้างอิงตลาดสิงคโปร์และมีความเสี่ยงอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งควรจะลงทุนกับกองทุนใดที่ไร้ความเสี่ยง ทางออกในเรื่องนี้ ศศินทร์เตรียมจัดงาน “Sasin Faculty Research Forum” เพื่อถกถึงปัญหาดังกล่าว ในวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ระหว่างเวลา 13.30 น - 15.00 น. ณ ห้อง 502 ชั้น 5 สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งงานนี้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจทั่วไปรับฟังฟรี สำรองที่นั่งและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2216-8333#210 หรือ ที่เวปไซด์ www.sasin.edu