ฟิทช์ เรทติ้ง ปรับเพิ่้มอันดับเครดิต ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ระบุรับผลดีจากเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งของ ICBC ธนาคารแม่ และความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นในปีก่อน
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Ratings) ของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ICBCT เป็น “AAA(tha)” จาก “AA+(tha)” แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ขณะเดียวกัน ได้คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ “F1+(tha)”
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ ICBCT สะท้อนถึงการทบทวนระดับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ คือ Industrial and Commercial Bank of China หรือ ICBC ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศที่ “A”/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ โดย ICBCT ได้รับประโยชน์จากชื่อเสียง และเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งของ ICBC และมีการปรับปรุงและรวมระบบงานให้สอดคล้องกับ ICBC มากขึ้น ทั้งนี้ ICBCT ได้มีการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในระยะยาวให้สอดคล้องกับของธนาคารแม่ โดยเน้นการสนับสนุนทางการเงินให้แก่ลูกค้าที่มีการทำธุรกิจระหว่างประเทศไทย และจีน นอกจากนี้ ICBCT ยังได้รับการการสนับสนุนด้านสภาพคล่องและเงินทุนอย่างเต็มที่จาก ICBC ซึ่งฟิทช์มองว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนอันดับเครดิตของธนาคาร
ในส่วนของความแข็งแกร่งทางการเงินของ ICBCT ธนาคารมีความสามารถในการทำกำไรดีขึ้นในปี 2554 โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็น 695 ล้านบาท เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ธนาคารคาดว่า สินเชื่อน่าจะขยายตัวต่อเนื่องในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยการอาศัยประโยชน์จากความสัมพันธ์ของธนาคารแม่กับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน เงินกองทุนของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.1% ณ สิ้นปี 2554 ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวอาจปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากนโยบายในการขยายธุรกิจของธนาคารแม่ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่า เงินกองทุน และสภาพคล่องของ ICBCT น่าจะยังคงอยู่ในระดับเพียงพอที่จะสนับสนุนการเติบโตในอนาคต
ทั้งนี้ ในระยะปานกลาง การปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินเนื่องจากการแข่งขันในประเทศที่เข้มข้นขึ้น อาจส่งผลกระทบต่ออัตรากำไร ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2554 มีเพียงเล็กน้อย โดยผลกระทบอยู่ที่ประมาณ 5% ของสินเชื่อ หรือน้อยกว่า ธนาคารมีการจำหน่าย และปรับโครงสร้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมากในปี 2554 ส่งผลให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท (2.8% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2554 จาก 3 พันล้านบาท (5.4%) ณ สิ้นปี 2553