กรุงเทพโพล เผยผลสำรวจความเห็น ”ผู้ปกครอง” ในเขต กทม. พบคนกรุงกว่า 50% เงินไม่พอใช้จ่าย ค่าเทอม-อุปกรณ์การเรียน แพงขึ้นเป็นสาเหตุหลัก สวนทางรายรับที่หดตัว ต้องงัดกระปุกเงินออม-หยิบยืมคนใกล้ชิดเพื่อแก้ปัญหา
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ภาวะค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม ปีการศึกษา 2555” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ปกครองที่มีบุตรเรียนอยู่ในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา ในเขตกทม.และปริมณฑล รวมทั้งสิ้น 1,083 คน พบว่า ผู้ปกครอง 50.8% ไม่ประสบปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายด้านการเรียนของลูก ขณะที่ 49.2% ระบุว่า ประสบปัญหา สาเหตุหลักเกิดจากอุปกรณ์การเรียนราคาแพงขึ้น 40.0% รองลงมาคือ รายรับลดลง 26.3% และค่าเทอมแพงขึ้น 16.6%
สำหรับวิธีการที่ผู้ปกครองใช้แก้ปัญหามากที่สุด คือ นำเงินที่สะสมไว้ออกมาใช้ 19.8% รองลงมาคือ ขอยืมเงินจากญาติ พี่น้อง และเพื่อน 19.1% และให้ลูกใช้เสื้อผ้า และอุปกรณ์การเรียนของปีที่แล้ว 18.5% ส่วนค่าใช้จ่ายที่จะให้ลูกไปโรงเรียนในเทอมนี้ เมื่อเทียบกับเทอมที่แล้วพบว่า ผู้ปกครอง 56.1% ระบุว่า จะให้เท่าเดิม 43.2% ระบุว่า จะให้เพิ่มขึ้น (โดยระบุว่าให้เพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 39.4%) ส่วน 0.7% ระบุว่า จะให้ลดลง
สำหรับเรื่องที่ผู้ปกครองรู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับลูกมากที่สุดในเทอมใหม่นี้ คือ ความปลอดภัยจากการเดินทาง 23.5% รองลงมา คือ การคบเพื่อนไม่ดี 22.2% และวิชาการที่ลูกๆ เรียนจะได้ไม่เต็มที่ 17.2% นอกจากนี้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 75.9% ได้รับรู้เรื่องการใช้ชีวิต/การเรียนการสอนในโรงเรียนจากลูกว่า โรงเรียนสอนให้ลูกเป็นทั้งคนดี และคนเก่ง ขณะที่ 11.0% เน้นเป็นคนดีมากกว่าเรียนเก่ง และ 5.5% เน้นเรียนเก่งมากกว่าเป็นคนดี
เมื่อถามถึงประโยชน์จากนโยบายทางการศึกษาของรัฐบาล ผู้ปกครองระบุว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปี มีประโยชน์ค่อนข้างมาก 33.5% และมีประโยชน์มาก 31.8% ขณะที่ระบุว่า มีประโยชน์ค่อนข้างน้อย 20.1% และไม่มีประโยชน์เลย 14.6% ขณะที่นโยบายการแจกแท็บเล็ต (tablet) ผู้ปกครองระบุว่า มีประโยชน์ค่อนข้างมาก 31.9% และมีประโยชน์มาก 21.9% ในขณะที่ระบุว่า มีประโยชน์ค่อนข้างน้อยะ 23.3% และไม่มีประโยชน์เลย 22.9%
สำหรับเรื่องที่อยากบอกกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดระบบการศึกษาของประเทศไทยมากที่สุด คือ ให้เน้นการเรียนการสอนให้มากขึ้น ลดกิจกรรมต่างๆ ลงบ้าง 21.6% รองลงมาคือให้คุณครูเอาใจใส่เด็กนักเรียน และมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ 14.2% และให้รัฐเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การเรียน 9.0%