xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” ปัดค่าแรง 300 ต้นเหตุของแพง ย้ำไม่เคยพูดราคาสินค้าไม่ได้ปรับขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กิตติรัตน์” ปัดค่าแรง 300 ต้นเหตุหลักทำของแพง แต่ยอมรับมีสินค้าบางรายการปรับขึ้นจริง ยันตนเองไม่เคยพูดว่าสินค้าไม่ได้ปรับขึ้น เพราะถ้าราคาสินค้าไม่ปรับขึ้น อัตราเงินเฟ้อก็ไม่เป็นบวก พร้อมย้ำเงินเฟ้อไทยยังต่ำกว่าประเทศคู่ค้า ลั่นการแก้ปัญหาค่าครองชีพ รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงต้นเหตุผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยยืนยันว่า ตนเองไม่เคยบอกว่าราคาสินค้าไม่ได้ปรับขึ้น เพราะถ้าราคาสินค้าไม่ปรับขึ้น อัตราเงินเฟ้อก็ไม่เป็นบวก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังยืนยันนโยบายที่่แถลงไว้กับรัฐสภา คือการลดการอุดหนุนราคาพลังงาน และปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะหากมีการอุดหนุนมาก ก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งในการอุดหนุนราคาพลังงาน ผู้มีรายได้มากก็ได้ประโยชน์ทุกที่ การอุดหนุนต้องทำอย่างระมัดระวัง และเหมาะสม

“ยอมรับว่าราคาสินค้าบางรายการปรับขึ้นจริง แต่บางรายการลดลง ซึ่งรัฐบาลจะพยายามไม่ให้กระทบกับกำลังซื้อของประชาชน ส่วนการเข้าไปอุดหนุนราคาสินค้าที่มีราคาแพงเกินไป จะต้องใช้งบประมาณประเทศเพิ่มขึ้น จึงต้องระมัดระวัง โดยการทยอยปรับลดการอุดหนุนให้เข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะขณะนี้ ใกล้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หากรัฐบาลนำเงินงบประมาณไปอุดหนุนประชนประเทศอื่น จะกลายเป็นอุดหนุนประเทศอื่นด้วย”

นายกิตติรัตน์ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลจะพยายามสร้างรายได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท จะครอบคลุมทั่วประเทศในเวลาอันสั้น ส่วนการขึ้นค่าแรงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่ม มองว่าเป็นเพียงส่วนเดียว และถ้ากำลังซื้อเพิ่มขึ้นก็สามารถช่วยได้ พร้อมย้ำว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง และคู่ค้า

“แนวทางการแก้ปัญหาค่าครองชีพของรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว รัฐบาลจะเดินหน้าการเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อย ด้วยการเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง คือกลุ่มผู้มีรายได้มาก แต่เมื่อแรงงานมีรายได้มากขึ้น ก็ใช้จ่ายซื้อสินค้าสูงขึ้น ยอดขายก็จะเพิ่มขึ้นตาม”

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวคิดนำพื้นที่ราชพัสดุ ของกรมธนารักษ์ มาพัฒนาเป็นพื้นที่แสดงและจำหน่ายสินค้า เพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และผู้ผลิตสินค้าโอทอป เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในราคายุติธรรมและทั่วถึง เป็นการช่วยลดปัญหาค่าครองชีพอีกทางหนึ่ง และเป็นการช่วยให้ผู้ผลิตเอสเอ็มอี และโอทอปที่มีกว่า 30,000 ราย หมุนเวียนมาแสดงสินค้าที่ศูนย์กระจายสินค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น