xs
xsm
sm
md
lg

“ฟิทช์” คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย อยู่ที่ระดับ BBB+ แนะรัฐหยุดแทรกแซงแบงก์ชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้อำนวยการ สบน.เผยสถาบันจัดอันดับ “ฟิทช์ เรตติ้ง” คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย อยู่ที่ระดับ BBB+ สะท้อนถึงสถานะการเงินต่างประเทศที่เข้มแข็ง และสัญญาณของเสถียรภาพทางการเมือง แต่แสดงความเป็นห่วงรัฐบาลชุดปัจจุบันใช้เงินนอกงบประมาณ อาจกระทบวินัยการเงินการคลัง และความโปร่งใสในการใช้เงิน แนะหยุดแทรกแซงการทำงานแบงก์ชาติ เกรงกระทบการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings (ฟิทช์) ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินตราต่างประเทศของไทยที่ระดับ BBB และสกุลเงินบาทของรัฐบาลที่ระดับ A- ตามแนวโน้มที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) พร้อมทั้งยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลที่ระดับ F3 และเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) ที่ระดับ BBB+

ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะการเงินต่างประเทศที่เข้มแข็ง และสัญญาณของเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้งในปี 2554 โดยเห็นว่าการเลือกตั้งดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนโอนอำนาจอย่างมีระเบียบ แต่ยังเร็วเกินไปหากจะสรุปว่าปัญหาการแบ่งแยกทางการเมืองที่หยั่งลึกของไทยจะได้รับการแก้ไข โดยยังคงเชื่อว่าไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองขึ้นอีก โดยฟิทช์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2555 จะขยายตัวได้ถึง 5.5%

นายจักรกฤศฏิ์ยอมรับว่า ฟิทช์มีความกังวลมากถึงแนวโน้มในการหันไปพึ่งพาช่องทางการใช้เงินนอกงบประมาณเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาล เช่น การมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนต่อผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งเพิ่มความกังวลต่อความโปร่งใสทางการคลัง รวมถึงความไม่เห็นพ้องต้องกันในระดับหนึ่งระหว่าง ธปท.กับรัฐบาลในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า

โดยในมุมมองของฟิทช์เห็นว่า ความไม่ลงรอยกันระหว่างสถาบันหลัก เป็นสัญญาณไม่ดีต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ และอาจรวมถึงการขาดความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายของ ธปท.ในท้ายที่สุด แต่เหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่ส่งผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในขณะนี้ แต่ฟิทช์จะจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น