“สุริยะใส” ไม่เห็นด้วยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยผ่าน พ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้าน สับหมางเมินอำนาจนิติบัญญัติ ชี้ ให้เหตุผลเบาไป ยันแผนยังขาดการตรวจสอบ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ห่วงทำรัฐเหลิงอำนาจ แนะศาลระวังการจัดความสมดุลทางอำนาจ
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณี พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า พ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้าน ไม่ขัด รธน.และเป็นคำวินิจฉัยที่หมางเมินอำนาจนิติบัญญัติ แต่ผมไม่ติดใจกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 9:0 ว่า ไม่ขัด รธน.ส่วนเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่า พ.ร.ก.โอนหนี้ เกี่ยวเนื่องกันกับ พ.ร.ก.ฉบับแรก จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วยนั้น เป็นเหตุผลที่น้ำหนักเบาไป
นายสุริยะใส กล่าวว่า ถ้า พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท เกี่ยวเนื่องกันกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท จริงๆ ก็ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งออกเป็น พ.ร.ก.แต่อย่างใด เพราะแผนฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ ที่ออกแบบโดย กยน.และ กยอ.ยังขาดการตรวจสอบ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการการกำหนดแผนและงบประมาณที่ต้องมีหลักประกันถึงความโปร่งใส และในช่วงกระบวนการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เชิญ กรรมการ กยน.และ กยอ.ไปให้ข้อมูลแต่อย่างใด ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงเสียโอกาสที่จะได้เห็นแผนในภาพรวมทั้งระบบว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เป็นรูปธรรมหรือไม่ และมีหลักประกันถึงความโปร่งใสในการจัดสรรเงินงบประมาณหรือไม่ ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นที่ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้าน ต้องตราเป็น พ.ร.บ.ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ หรือสภาฯ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบอย่างแท้จริงตามหลัก 3 อำนาจ และที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ คำวินิจฉัยครั้งนี้จะทำให้ฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาล “เหลิงในอำนาจ” ผลักดันนโยบายประชานิยม จนไร้วินัยการเงินการคลังเหมือนที่ผ่านมา
“ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรวินิจฉัยสูงสุด และคำวินิจฉัยของศาลผูกพันทุกองค์กร ฉะนั้นจึงมีจำเป็นที่จะต้องระมัดระวัง “การจัดความสมดุลทางอำนาจ” แม้ผมจะเคารพในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็อยากให้สังคมติดตามอ่านคำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างน้อย 2 ท่าน ที่เห็นว่า พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ขัดรัฐธรรมนูญ เพื่อดูเหตุผลประกอบ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความคลางแคลงใจตามมาว่าคำวินิจฉัยครั้งนี้ คำนึงถึงกระแสกดดันทางการเมืองมากเกินกว่า จะสร้างบรรทัดฐานวินิจฉัยที่ดี” นายสุริยะใส กล่าว