xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. รื้อร่างควบรวมกิจการฯ เหตุรับไม่ได้โดน“คลัง”ปรับเละ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิรไท สันติประภพ
อาจจะมีวาระสำคัญๆ มากมายที่ “บอร์ดพัฒนาตลาดทุนไทย” พยายามผลักดันให้สำเร็จโดยเร็ววัน และหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการควบรวมฯ ที่ผ่าน ครม. มาตั้งแต่ “ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” เป็น รมว. คลัง แต่เนื้อหายังไม่สอดคล้องกับชื่อกฎหมาย เป็นเหตุ “เลขาฯ ก.ล.ต.” ต้องตั้งทีมล้างกันยกระบิ ส่วน การฟ้องร้องแบบกลุ่ม หรือ Class Action ที่ร่างเสร็จมาแล้ว 10 ปี จนป่านนี้ยังไม่ได้เข้าสภาฯ ด้าน “เวนเจอร์แคป” ก็ยังติดล๊อก เหตุ “สศค.” กลับคำ

ดร. วิรไท สันติประภพ ระบุถึงปัญหาความไม่คืบหน้าในการปรับปรุงกฎหมายตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยสำคัญหลายฉบับที่ควรจะออกแต่ก็ยังไม่ได้ออก โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ. ... ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องแบบกลุ่ม ( Class Action) ที่เขาบอกว่ากระทรวงการคลังร่างเสร็จมา 10 ปีแล้ว แต่จนวันนี้ก็ยังไม่ได้ผ่านเข้าสู่การพิจารณาจากรัฐสภา

ทั้งนี้ก็เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ และต้องส่งกลับกระทรวงการคลังท เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบก่อนจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีใหม่พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง

โดยสาระสำคัญของร่า คดีแบบกลุ่มเป็นคดีที่มีผู้เสียหายจํานวนมากอันเกิดจากการละเมิด การผิดสัญญา หรือความเสียหายที่เกิดจากกฎหมายเฉพาะต่างๆ ที่มุ่งประสงค์จะคุ้มครองบุคคลหรือผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว เช่น คดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คดีเกี่ยวกับแรงงาน หรือคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค

โดยโจทก์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องขอให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรม ทั้งยังช่วยหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีและป้องกันความขัดแย้งกันของคำพิพากษา และเป็นการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง

กฏหมายฟ้องร้องแบบกลุ่มนี้ปัจจุบันมีใช้อย่างแพร่หลายประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา แคนาดา หรือออสเตรเลีย โดยประมาณว่าเกือบครึ่งของการดำเนินคดีเป็นการฟ้องร้องที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์

“วันนี้ผู้ถือหุ้นรายย่อยอยากจะฟ้องเอาผิดบริษัทที่ไซฟ่อนเงินหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่คดโกง ผู้ถือหุ้นแต่ละคนก็ต้องไปฟ้องร้องกันเอง แล้วเราจะมีแรงที่ไหนล่ะที่จะไปฟ้องเอง เพราะต้องไปจ้างทนายเอง แต่ในเมืองนอกเวลาฟ้อจะฟ้องเป็นกลุ่ม และมีคนมารับฟ้องให้ แล้วเราก็มาร่วมเป็นผู้เสียหายในกลุ่มด้วย ซึ่งมันจะช่วยรักษาผลประโยชน์นักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นได้อีกเยอะเลย ตอนนี้กฎหมายนี้อยู่ที่กระทรวงการคลัง คือมันเคยรอจะเข้าสภาฯ แล้ว แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องส่งกลับไปให้ต้นสังกัดเห็นชอบใหม่” ดร. วิรไท กล่าว

ก.ล.ต. ล้างเนื้อหาร่างควบรวมฯหลัง “คลัง” ทำซะเละจนรับไม่ได้

ส่วนร่างกฎหมายอีกฉบับที่กำลังมีปัญหาคือ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการควบรวมกิจการในตลาดทุน ซึ่งฉบับนี้เป็นฉบับใหม่ร่างขึ้นตั้งแต่ตอนเริ่มทำแผนพัฒนาตลาดทุนในสมัยกรณ์ จาติกวณิช ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับเหตุที่ต้องยกร่างขึ้นมาใหม่ก็เพราะการควบรวมกิจการจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายส่วน หากจะไปแก้ไขที่ตัวกฎหมายแม่ ก็อาจทำได้ลำบากและจะเกิดความวุ่นวายอย่างมาก คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนในเวลานั้นจึงตัดสินใจให้เขียนร่างใหม่ขึ้นมาให้สอดคล้องกับวิธีปฎิบัติในภาคธุรกิจสมัยใหม่ โดยสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ยกร่าง พ.ร.บ.

แม้ ร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมการควบรวมฯ นี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยขณะนั้น ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ยังคงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยก็ตาม แต่ ดร. วิรไท ย้ำว่า “ผ่านมาแบบเนื้อหาไม่ดีเลย” เนื่องจากไม่ได้ครอบคลุมเนื้อหาในแบบที่คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยและธรุกิจเอกชนต้องการจะเห็น

ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ดร. วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวในงานเสวนาร่าง พ.ร.บ. การส่งเสริมการควบรวมกิจการในตลาดทุนถึงเรื่องการแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการควบรวมกิจการเพื่อพัฒนาธุรกิจและตลาดทุน” อันประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาชีพมาร่วมระดมความเห็นและเสนอแนะเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว

“อาจเป็นเพราะเราไปเร่งเขา ทาง สศค. ก็เลยไปปรับร่างใหม่กันจนเละเลยอ่ะ ท่านเลขาฯ ก.ล.ต. ก็บอกว่าโอเคพวกเราก็มาตั้งคณะทำงานขึ้นมาปรับร่างกันใหม่ เอาพวกนักกฎหมาย พวก IB (ที่ปรึกษาการเงิน) พวกนักธุรกิจ เข้ามานั่งดูกันว่าจะปรับยังไงให้ครอบคลุมกิจการที่เราอยากจะเห็นจริงๆ ตอนนี้เรากำลังจะล้างใหม่โดยมี ก.ล.ต. เป็นแม่งาน”

“พอปรับกันเสร็จแล้ว ก็ต้องเอากลับไปให้กฤษฎีกาดูอีกที แล้วค่อยเสนอกลับไปที่ ครม. เพื่อเอาร่างนี้เข้าสภาฯ อันนี้มันเป็นโจทย์ใหญ่เลยว่ากระบวนการออกกฏหมายในเมืองไทยช้ามาก” ดร. วิรไท เล่าให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม เขายังเน้นย้ำถืองความสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่าไม่ได้แค่ตอบโจทย์ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยตอบโจทย์บริษัทไทยขนาดใหญ่ที่ต้องออกไปแข่งขันในต่างประเทศ และกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกรรมการควบรวมกิจการในประเทศถือว่าเล็กที่สุดในกลุ่มอาเซียน เมื่อจะต้องออกไปแข่งขันขนาดงบดุลบัญชีของไทยก็มีขนาดเล็ก เมื่อควบกิจการกับใครไม่ได้ แต่ต้องไปเจอกับคู่แข่งที่เป็นขนาดยักษ์ก็ย่อมจะได้รับกระทบกับความสามารถในการแข่งขัน

โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง (SMEs) ของไทยที่ในเวลานี้ทำอะไรออกมาดี ๆ และก็ต้องการให้มีคนอื่นมาควบกิจการกับกิจการของตัว เพื่อที่จะได้เงินทุนก้อนใหม่ไปพัฒนาธุรกิจอื่นๆ ต่อ แต่ก็ทำกันไม่ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องกฎหมายควบรวมกิจการในประเทศที่ยังไม่เอื้อในเวลานี้

“คนชอบคิดว่าการควบรวมกิจการเป็นการทำลาย SMEs ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ SMEs หลายคนเห็นประโยชน์ในการควบรวมกิจการ เพราะถ้าเค้าโดน take ไป เขาก็จะได้ไปอยู่ใน platform ที่ใหญ่กว่า realize value ได้มากกว่า หลายธุรกิจที่มีขนาดกลางและขนาดย่อมเขาเห็นประโยชน์ อย่างตอนที่เราจัดเสวนาเรื่องควบรวมกิจการ พวกธุรกิจซอฟต์แวร์พูดเลยว่าธุรกิจของเขาต้องคนอายุไม่เกิน 45 เป็นคนมาทำ มันไม่ใช่ธุรกิจที่จะส่งต่อให้รุ่นลูกเป็นเจนเนอเรชั่นๆ ได้ แต่มันเป็นธุรกิจที่ต้องทำให้เป็นสถาบัน เขาจึงต้องควบรวมฯ เข้ากับคนที่มันก็ทำต่อไม่ได้เหมือนกันเพราะไม่มีคนมาต่อ มันก็เลยต้องใช้ professional run และทำให้ application มันขยายมากขึ้น เขาบอกชัดเจนว่าอุตสาหกรรมที่จะโตได้ในประเทศไทยต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีการควบรวม” ดร. วิรไท ย้ำ

แผนทำ “เวนเจอร์ แคป “ หยุดชะงัก “คลัง” ล๊อกสเปกหนุนเฉพาะกลุ่มSMEs

เมื่อพูดถึง SMEs ก็ต้องพูดถึงเรื่องธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) และกองทุน VC รองผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร พูดอย่างอ่อนใจ “นั่นก็ไม่ได้เดิน ติดอยู่เนี่ย จนไม่มีแรงผลักดันแล้ว” เนื่องจาก สศค. ยังไม่ยอมประกาศรายชื่อกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการได้ ทั้งที่ก็มีรายชื่อกลุ่มอุตสาหกรรมพร้อมในมือตัวเองอยู่แล้ว

เขายังได้เล่าเท้าความที่มาที่ไปของปัญหาตรงนี้ว่าก่อนหน้าเคยมีการหารือกันและตกลงกันแล้วในระดับคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยว่าจะอนุญาตเปิดให้ทำได้เป็นการทั่วไป แต่พอมาถึงตอนนี้ สศค. บอกไม่เอาแล้ว แต่จะอนุญาตให้ทำได้เป็นรายอุตสาหกรรมในเชิงกลยุทธ์ (Strategic Industry) โดยจะเลือกเอาแต่เฉพาะอุตสาหกรรมเทคโลยีแค่เพียงกลุ่มเดียว

“ตอนแรกเราคุยกันว่าจะเปิดให้ทำกันได้เป็นการทั่วไป และเขาก็เข้าใจแล้วนะ แต่ตอนนี้ก็บอกไม่เอาแล้ว แต่จะให้ทำเป็นรายอุตสาหกรรมที่เป็น strategic industry เราก็บอกไปว่ามันไม่มีประโยชน์เลย ทำไมรัฐต้องมาเป็นคนสั่ง ถ้าเราคิดว่าเครื่องมือนี้ดี เป็นกลไกที่ดี ใครอยากทำหรือใครที่ทำได้เราก็ให้เขาทำไป เขารู้เรื่องมากกว่าเราเยอะ” ดร. วิรไท เล่า

ขณะที่ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อย่าง โรงแรม ทั้งที่เป็นมีส่วนสำคัญในการดึงดูดเงินทองเข้าประเทศ และทุกรัฐบาลก็มีนโยบายในการสนับสนุน แต่ถึงกระนั้นอุตสาหกรรมนี้ก็ถือเป็นกลุ่มที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ในความเห็นของเขานั้นก็มองว่าควรให้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการสนับสนุนให้ทำ VC ด้วย

ยังมีธุรกิจอย่างพวกผู้ผลิตการ์ตูนเอนิเมชั่นที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากลำบาก เนื่องจากธุรกิจอาจมีความเสี่ยงเรื่องความสำเร็จเชิงการค้าในอนาคต แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้ในวันข้างหน้า และในความเห็นของเขาก็มองว่านี่ก็เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการสนับสนุนในเรื่อง VC เช่นกัน

“service industry ในเมืองไทยทำไมคุณไปบอกว่ามันไม่ไฮเทค ธุรกิจอย่างพวกที่ทำของที่มีความเสี่ยงสูงที่ไม่มีหลักประกันอะไรเลยมันจะได้ประโยชน์จากการทำเวนเจอร์แคป และอย่างพวกทำการ์ตูนเอนิเมชั่น ทำไมจะบอกว่าเขาไม่มีไฮเทค เขาไม่ควรจะมาลงทุน มันก็ไป lock กันอยู่อย่างนี้ สศค. ก็ไม่ตัดสินใจซะที list ตอนนี้เขาก็มีอยู่แล้ว พอไม่ตัดสินใจแล้วก็ไม่ประกาศตอนนี้ก็ไม่รู้จะหาใครมาประกาศ บอร์ดพัฒนาตลาดทุนไทยก็หมดแรงจะผลักดันกันแล้ว จะให้เราเข้าไปดันทุกเรื่องเราก็ไม่ไหวแล้ว เราเลยบอกว่างั้นก็เอาเฉพาะเรื่องสำคัญๆ ก่อนแล้วกัน เพราะพอไปดันมากๆ เดี๋ยวมันก็จะออกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ เหมือนกรณีร่างกฎหมายควบรวมฯ อีก” รองผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร กล่าวไว้อย่างน่าอ่อนใจ
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น