xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ลดเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน UOB(Thai)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟิทช์คงอันดับเครดิตธนาคารยูโอบี (ไทย) ที่ระดับ BBB+ แต่ปรับลดอันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงินลงมาที่ bb+ จาก bbb- เหตุความสามารถในการทำกำไร-คุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยกว่าแบงก์อื่นที่ขนาดใกล้เคียงกัน คาดใช้เวลาอีก 1-2 ปีในการยกระดับ

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (LTFC IDR)) ของธนาคารยูโอบี (ไทย) จำกัด มหาชน (UOB (Thai)) ที่ “BBB+” และปรับลดอันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ลงมาอยู่ที่ “bb+” จาก “bbb-” อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Rating) ได้รับการคงอันดับที่ “AAA(tha)” โดยธนาคารมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ อันดับเครดิตของ UOB (Thai) มีพื้นฐานมาจากการถือหุ้นและการให้การสนับสนุนของ United Overseas Bank (UOB; “AA-”/Stable) เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียง และฐานะทางการเงินของ UOB ฟิทช์เชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ UOB (Thai) จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น หากมีความจำเป็น อันดับเครดิตภายในประเทศสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ที่เห็นว่าหลักเกณฑ์การจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติที่ 49% ของประเทศไทย ไม่น่าจะเป็นข้อจำกัดในการเพิ่มทุน เพื่อให้การสนับสนุนบริษัทลูกในประเทศไทยของ UOB ในกรณีที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่ธนาคารประสบปัญหาทางการเงิน

ส่วนการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน เป็นผลมาจากความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ที่ค่อนข้างด้อยกว่า เมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ ที่มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงข้อจำกัดในด้านความสามารถในการระดมเงินฝาก เนื่องจากเครือข่ายการดำเนินธุรกิจที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ฟิทช์เชื่อว่า แม้ว่า UOB (Thai) จะสามารถได้รับการสนับสนุนในด้านสภาพคล่องจาก UOB ได้หากมีความจำเป็น แต่ UOB ก็ยังคงต้องการให้ธนาคารระดมเงินทุนด้วยตัวเอง ฟิทช์มองว่า ธนาคารน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ปีในการเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ และน่าจะใช้เวลามากกว่านั้นในการเพิ่มศักยภาพด้านการระดมเงินทุน โดยเฉพาะในสภาวะที่มีการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเงินฝาก

อนึ่ง UOB (Thai) มีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.54% ณ สิ้น เดือนธันวาคม ปี 2554 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวลดลงจากที่ระดับ 17.78% ณ สิ้นปี 2553 เนื่องจากการใช้กลยุทธ์การเติบโตของสินทรัพย์ในเชิงรุกมากขึ้น ในระยะยาว ธนาคารวางเป้าหมายระดับเงินกองทุนไว้ที่ 14%-15% ซึ่งยังคงเป็นระดับที่สูงกว่าธนาคารอื่นในประเทศ และต่างประเทศ แต่อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความเสี่ยงในด้านสภาวะแวดล้อมการดำเนินงาน และระดับความเสี่ยงโดยรวมของธนาคาร (risk profile) ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท หรือ 3.96% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2554 เทียบกับ 8.6 พันล้าน หรือ 5.3% ณ สิ้นปี 2553 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศ และธนาคารลูกของ UOB ในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
กำลังโหลดความคิดเห็น