xs
xsm
sm
md
lg

สะพัด "เป๊ปซี่" ทุ่มเม็ดเงินกว่า 4 พันล้าน ฮุบโรงงานเครื่องดื่ม "ซานมิเกล"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สะพัด "เป๊ปซี่" ทุ่มเม็ดเงินกว่า 4 พันล้าน ฮุบโรงงานเครื่องดื่ม "ซานมิเกล" ที่นิคมฯ อมตะซิตี้ ระยอง เตรียมเดินหน้าขยายลงทุน-ลุยทำตลาดในไทย "เสริมสุข" ตั้งหลักสู้น้ำท่วม เปิดแผนใหม่สต็อกสินค้า 2 เดือน

มีรายงานข่าวว่า บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด เจ้าของและผู้ทำตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลม เป๊ปซี่ มิรินด้า และเซเว่นอัพ ได้เจรจาทำสัญญาซื้อขายโรงงานผลิตเครื่องดื่มจากบริษัท ซาน มิเกล (ประเทศไทย) ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง จำนวน 95 ไร่ ไปเมื่อ 2 เดือนก่อน โดยใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท พร้อมปรับสายการผลิตสินค้าใหม่ในโรงงานดังกล่าว เพื่อเตรียมทำตลาดสินค้ากลุ่มน้ำอัดลมและอื่นๆ ได้ทันที หลังบริษัทหมดสัญญาธุรกิจกับบริษัทเสริมสุข ผู้ผลิตและกระจายสินค้าซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ตุลาคม 2555 นี้

ทั้งนี้ วงการธุรกิจเครื่องดื่มคาดกันว่า เป๊ปซี่ฯ อาจต้องใช้งบลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อผลิตสินค้าเครื่องดื่มกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากโรงงานเดิมของบริษัทซานมิเกลแห่งดังกล่าว รองรับการผลิตสินค้าในสายการผลิตเครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง (แคน) เท่านั้น ซึ่งยังขาดในส่วนของบรรจุภัณฑ์ (แพ็กเกจจิ้ง) ขวดแก้ว ซึ่งเป็นรายการสินค้าหลักที่สร้างยอดขายให้กับเป๊ปซี่ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ กลุ่มเป๊ปซี่ฯ อาจยังต้องเตรียมแผนการขนส่งและกระจายสินค้าใหม่อีกด้วย จากก่อนหน้าที่บริษัทเสริมสุข เป็นผู้กระจายสินค้ารายการต่างๆ ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทเป๊ปซี่ฯ อาจสนใจว่าจ้างบริษัทเสริมสุข ซึ่งเป็นพันธมิตรเดิม ทำหน้าที่ในส่วนนี้เหมือนเดิม

กรณีดังกล่าว นายปริญญา เพิ่มพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและปฏิบัติการขาย บริษัท เสริมสุข จำกัด จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทต้องมีการปรับแผนการผลิตและขนส่งสินค้าใหม่ เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น ภายหลังจากปีที่ผ่านมาโรงงานผลิตเครื่องดื่มของบริษัททั้ง 2 แห่งคือ นครสวรรค์ และปทุมธานี ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม จนต้องหยุดการผลิต

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทได้เริ่มกลับมาผลิตสินค้าได้เกือบ 90% แล้ว พร้อมกันนี้ ยังได้วางแผนเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจากนี้บริษัทจะมีการสต็อกสินค้าอย่างน้อย 2 เดือน เผื่อกรณีที่โรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้
กำลังโหลดความคิดเห็น