"กิตติรัตน์" เตรียม 5 แนวทางหารือ ผู้ว่า ธปท. เย็นนี้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ "บอร์ดอนุมัติ "ธ.ก.ส." กู้ซอฟท์โลนจาก ธปท. วงเงิน 6 หมื่นล้าน ดบ. 0% นาน 5 ปี ปล่อยกู้ "เกษตรกร-ผู้ประกอบการ" เหยื่อน้ำท่วม
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) มูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยยอมรับว่า ตนเองได้เตรียม 5 แนวทางไว้ที่จะหารือร่วมกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงเย็นวันนี้
สำหรับรายละเอียดของทั้ง 5 แนวทาง นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ตนเองยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่าจะมีการเสนอให้ธนาคารพาณิชย์เลือกวิธีการจัดส่งค่าธรรมเนียมเพื่อนำไปใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ใน 2 แนวทาง คือ 1.เก็บเงินนำส่งอัตราเดียวตลอดการชำระหนี้ หรือ 2.เก็บแบบขั้นบันได คาดเริ่มจ่ายได้ในเดือนสิงหาคม 2555 นี้
ด้านนายลักษณ์ วัจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส. ที่มีนายกิตติรัตน์ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.กู้เงินดอกเบี้ยต่ำจาก ธปท. วงเงิน 60,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ระยะเวลา 5 ปี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
โดยเงินกู้ดังกล่าวจะนำมาสบทบกับเงินทุนของ ธ.ก.ส.อีก 30% เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป ในรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท และผู้ประกอบการ รายละไม่เกิน 30 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3%
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ธ.ก.ส.ยังเห็นชอบให้ลดหย่อนหลักประกันเงินกู้นอกเหนือจากข้อบังคับ ธ.ก.ส. ในกรณีที่ใช้หลักประกันรับรอง หรือใช้บุคคล 2 คนขึ้นไปค้ำประกันหนี้เงินกู้ ให้กู้ได้ไม่เกินรายละ 1 แสนบาท โดยให้แยกวงเงินค้ำประกันตามมาตรการนี้ต่างหากจากวงเงินค้ำประกันปกติของธนาคาร
ส่วนกรณีใช้อสังหาริมทรัพย์จำนองเป็นประกันพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ขยายวงเงินกู้จากหลักเกณฑ์ปกติที่กู้ได้ไม่เกิน 50% ของวงเงินจดทะเบียนจำนอง เป็นกู้เงินได้ไม่เกินวงเงินจดทะเบียนจำนอง และกรณีใช้อสังหาริมทรัพย์จำนองและสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดจากการใช้สินเชื่อให้กู้ได้ตามมูลค่าที่ดิน
ส่วนทรัพย์ที่เกิดจากการใช้สินเชื่อให้กู้ได้ไม่เกิน 80%ของมูลค่าจริงของทรัพย์ที่เกิดจากการใช้สินเชื่อ โดยลูกค้าที่ขอกู้เงินเพื่อนำไปฟื้นฟูการผลิตทั้งกรณีกู้แล้วและเตรียมกู้ใหม่ จะได้รับสิทธิลดดอกเบี้ย 3% เพื่อแบ่งเบาภาระการฟื้นฟูการประกอบกอาชีพ การสร้างโอกาสการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มรายได้
ทั้งนี้ผู้กู้จะต้องส่งชำระคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยภายในเวลา 5 ปี หรือไม่เกินปี 2561 ตามข้อกำหนดของ ธปท. หากเกินกำหนด ธปท.จะให้คิดดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ และเพื่อให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำดังกล่าวครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส.จะหารือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์และธปท.ในการปล่อยกู้ให้กับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรได้ด้วย