ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนเชิงรุกในช่วง ศก. ผันผวนสูง ตั้งเป้าปี 55 เพิ่มมาร์เก็ตแคปแตะ 1.2 แสนล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 3.1-3.2 หมื่นล้านบาท พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ “เพิ่มพลังให้ธุรกิจและผู้ลงทุน ด้วยความโดดเด่นในการตอบสนองโอกาสทางการเงิน” เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ในปี 2555 นี้ความเสี่ยงจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรปยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินโลกจะมีความผันผวนสูง รวมถึงจะมีการแข่งขันกับตลาดทุนในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ “เพิ่มพลังให้ธุรกิจและผู้ลงทุน ด้วยความโดดเด่นในการตอบสนองโอกาสทางการเงิน” เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้
ปี 2555 ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดกลยุทธ์หลัก 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) เพิ่มพลังให้กับธุรกิจ (Empowering Business) 2) เพิ่มพลังให้กับผู้ลงทุน (Empowering Investors) 3) ตอบสนองโอกาสทางการเงิน (Matching the right financial opportunities) 4) เพิ่มขีดความสามารถของตลาดหลักทรัพย์ (Strengthening SET’s capabilities) และ 5) เพิ่มศักยภาพให้แก่สถาบันตัวกลาง (Strengthening Intermediaries)
"กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจนี้ จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทหลักทรัพย์สมาชิก และสถาบันตัวกลางอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดทุนไทย รวมทั้งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับระดับภูมิภาค และเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทยในสายตาผู้ลงทุนต่างประเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องทำงานเชิงรุกเพื่อตอบสนองโอกาสทางการเงินให้กับลูกค้า ทั้งบริษัทจดทะเบียน ผู้ลงทุนไทยและต่างประเทศได้ครบทุกกลุ่ม"
ด้วยแนวทางการเพิ่มพลังให้กับธุรกิจ (Empowering Business) ในปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสร้างให้มีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure fund) และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REITs) รวมถึงมีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ที่เอื้อให้บริษัทข้ามชาติ และบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) เข้าจดทะเบียน เพื่อตอบสนองโอกาสทางการเงินให้บริษัทกลุ่มต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์จากตลาดทุนเพิ่มขึ้น
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าหมายมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) จากบริษัทจดทะเบียนและหลักทรัพย์ใหม่ 120,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จะผลักดันให้การส่งเสริมการควบรวมกิจการเป็นวาระสำคัญของประเทศ และจะส่งเสริมงานผู้ลงทุนสัมพันธ์ (investor relations) ของบริษัทจดทะเบียนในเชิงรุก เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความสามารถในการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียน
ส่วนกลยุทธ์ เพิ่มพลังผู้ลงทุน (Empowering Investors) นายจรัมพรกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนขยายฐานผู้ลงทุนแต่ละประเภทอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนบัญชีผู้ลงทุนรายบุคคล เป็น 740,000-750,000 บัญชี และอนุพันธ์เป็น 80,000 บัญชี เนื่องจากการซื้อขายผ่านช่องทาง online ของผู้ลงทุนบุคคลมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งเสริมการเพิ่มช่องทางการซื้อขายผ่านตัวกลาง เช่น ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ และมีเป้าหมายภายในปีนี้จะเพิ่มสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายผ่าน online ให้เป็น 50%ของมูลค่าการซื้อขายรวมของผู้ลงทุนรายบุคคล สำหรับผู้ลงทุนสถาบันภายในประเทศ จะจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ด้านผลิตภัณฑ์การเงิน และระบบการซื้อขายใหม่ๆ เข้ามา
นายจรัมพรกล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เป็น 31,000-32,000 ล้านบาทต่อวัน และในตลาดอนุพันธ์อีก 55,000-57,000 สัญญาต่อวัน โดยนอกจากการเพิ่มจำนวนและศักยภาพบริษัทจดทะเบียน ขยายฐานผู้ลงทุนแล้ว ยังมีแผนการเพิ่มจำนวนสินค้าและบริการใหม่ปีนี้ เพื่อตอบสนองโอกาสทางการเงิน (Matching the right financial opportunities) โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนเพิ่มจำนวน Exchange-Traded Fund (ETF) ในตลาดหุ้น เปิดซื้อขาย ThaiDR และ currency futures ซึ่งคาดว่า currency futures จะเปิดซื้อขายได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ หลังจากได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานก.ล.ต. รวมทั้งการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ได้แก่ SET50 futures และ gold futures อีกทั้งจะมีการขยายธุรกิจบริการหลังการซื้อขายให้ครบวงจรโดยเฉพาะธุรกิจให้กู้ยืมหลักทรัพย์ (Securities Borrowing and Lending: SBL)
"ความผันผวนของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกในปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงความต้องการของผู้ลงทุนทั่วโลกที่ต้องการผลิตภัณฑ์การเงินที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน สะท้อนได้จากปริมาณการซื้อขาย SET50 futures และ gold futures ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเพิ่มจำนวนสินค้าอนุพันธ์ใหม่ และการเพิ่มสภาพคล่องของตราสารอนุพันธ์ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจในปีนี้"นายจรัมพร กล่าว
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งส่งเสริมให้หลักทรัพย์ไทยอยู่ในความสนใจของผู้ลงทุนต่างชาติ โดยจะเพิ่มความต่อเนื่องในการสร้างแบรนด์ ASEAN Exchanges ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งในปีนี้ระบบการเชื่อมโยงซื้อขายหลักทรัพย์ (ASEAN Link) จะเปิดซื้อขายในไตรมาส 3 นี้
นายจรัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกลยุทธ์การ เพิ่มขีดความสามารถของตลาดหลักทรัพย์ (Strengthening SET’s capabilities) ด้วยการพัฒนาระบบซื้อขายตราสารทุน ตราสารอนุพันธ์ ระบบเผยแพร่ข้อมูล และระบบงานกำกับดูแลการซื้อขายใหม่ โดยจะเริ่มใช้งานระบบซื้อขายตราสารทุนในไตรมาส 3 นี้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดทำแผนแม่บทงานด้านปฏิบัติการ (Operation Master Plan) และปรับปรุงกฎเกณฑ์และกระบวนการด้านกำกับดูแลให้มีมาตรฐานเทียบเคียงตลาดภูมิภาค เช่น การเพิ่มมาตรการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดปกติ (Trading Alert List) ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 23 ม.ค.นี้ เป็นต้น
ในส่วนของการ เพิ่มศักยภาพให้แก่สถาบันตัวกลาง (Strengthening Intermediaries) จะทำงานร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยร่วมกันจัดหา ระบบ front office และระบบ back office สำหรับบริษัทสมาชิกสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และสนับสนุนให้สมาคมบริษัทหลักทรัพย์มีอำนาจกำกับดูแลตนเอง (Self-Regulatory Organization: SRO) โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปรายละเอียดดังกล่าวภายในไตรมาสแรกปีนี้
สำหรับแผนงานการพัฒนาตลาดทุนระยะยาวของกลุ่มในปี 2555 นั้น จะมุ่งส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเดินหน้าไปสู่มาตรฐาน ESG (Environment, Society and Governance) ที่เหมาะสมในแต่ละระดับของบริษัท การยกระดับความรู้ความสามารถด้านการเงินแก่ผู้ลงทุนและนำไปสู่การขยายฐานผู้ลงทุนในระยะยาว และการสร้างมาตรฐานความรู้ของผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดทุนไทยและแข่งขันในระดับสากล
"การเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอีกประเด็นที่เรามุ่งให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะปรับลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio: CIR) ซึ่งปัจจุบัน CIR ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ที่ 63% ลดลงจากระดับ 93% เมื่อสามปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังคงสูงกว่าตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ตลาดหุ้นสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 44% และตลาดหุ้นมาเลเซีย ที่ 55%" นายจรัมพร กล่าวสรุปทิ้งท้าย